Politics

‘นายกรัฐมนตรี’ มั่นใจคนไทยรักชาติ แม้เห็นต่างทางการเมือง

นายกรัฐมนตรี มั่นใจคนไทยรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้า แม้เห็นต่างทางการเมือง ยันรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเต็มที่ เพื่ออนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานเยาวชนไทย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า สิ่งที่ผมมั่นใจ คือ คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะมีมุมมองทางการเมืองแบบไหน แต่ทุกคนรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้า และคุณค่าของความเป็นไทย แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็รู้ว่า ทุกคนต้องการอนาคตที่ดี สำหรับประชาชน และประเทศ

นายกรัฐมนตรี

ซึ่ง 2 เรื่องนี้ คือ เรื่องรักในรากเหง้าความเป็นไทย และ เรื่องต้องการอนาคตที่ดี สำหรับลูกหลานเยาวชนไทย รัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มที่ เป็น 2 เรื่องที่เดินไปด้วยกันได้ เราต้องหาหนทางแก้ไข ที่จะนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น อย่างมีหลักการ มีเหตุผล และ มีความถูกต้องตามกฏหมาย โดยไม่ทำลายอดีตที่มีคุณค่าของเรา แบบนั้น เราจะได้สังคมที่แข็งแรง สังคมที่มีรากเหง้าที่ดีงามหยั่งรากลึก และ ก็มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ ยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กอีกว่า ผมในนามของรัฐบาล ในนามนายกรัฐมนตรี รู้ว่าทุกอย่าง อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลกปัจจุบัน แต่เราต้องยอมรับว่า ในประเทศไทยของเรา คนจำนวนหลายสิบล้านคน ไม่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวุ่นวาย สับสนอลหม่าน ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง เขาเห็น เขาเชื่อ มาตลอดชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของแต่ละคน และความต้องการของคนอื่นๆ ในสังคมด้วย อย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวระหว่างการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกว่า ขอทำความเข้าใจ กรณีที่ตนได้กล่าวถึง “พญามัจจุราช” นั้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ได้ไปร่วมงานศพบ่อยครั้ง และ ได้ฟังบทพระสวด ทำความเข้าใจ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ประมาท ไม่ได้มีเจตนาที่จะขู่ใคร

ในส่วนของ การอภิปรายเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้น มีบทบัญญัติ มีกฎหมายลูก การเกิดเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 นั้น ไม่ต้องการระบุ ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว แต่สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายพิเศษ ในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นั้น เกิดจากการข่าวที่มีการระบุว่า อาจมีเหตุการณ์ลุกลาม จึงต้องออกกฎหมายพิเศษเพื่อป้องกัน ดูแล ยุติการลุกลามของเหตุการณ์

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นกฎหมายที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 แล้ว และ เมื่อรัฐบาลพิจารณาแล้ว ก็ได้มีการยกเลิกประกาศตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า หลังจากรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งกรณีให้นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา หรือ แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจในทุกเรื่องพร้อมพยายามหาทางแก้ไขปัญหาให้ได้มากที่สุดเร็วที่สุด

นายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ได้มีการปรึกษาคณะทำงานด้านกฎหมาย กรณีหากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) ความว่า นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

และจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่จากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยต้องมีมติเสี่ยงกึ่งหนึ่ง ซึ่งต้องรวมทั้งส.ส.และ ส.ว. ด้วย แต่ยังไม่มีพรรคการเมืองใดมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมี ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย กรณีการยุบสภาจะส่งผลให้ ครม. พ้นตำแหน่ง ส.ส. พ้นจากตำแหน่งและสิ้นสุดลง ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 ได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อมาหารือร่วมกันว่า ควรจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาอย่างไร ซึ่งได้แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว ว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐสภาจะพิจารณารัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเสร็จในวาระที่ 1 2 3 ในธันวาคมโดยประมาณ

แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้เพราะต้องรอลงประชามติก่อน โดยสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเสนอ(ร่าง) พ.ร.บ.ประชามติเข้าสภา เมื่อ (ร่าง) พ.ร.บ. เสร็จเมื่อใด ก็ต้องไปทำประชามติกันเมื่อนั้น แสดงให้เห็นว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลให้ความสำคัญสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo