Economics

เตรียมพิจารณาคุณสมบัติหน่วยงานรัฐร่วมถือหุ้น ‘แหล่งเอราวัณ-บงกช’ 25%

กรมเชื้อเพลิง ยอมรับมีผู้ร่วมประมูลน้อย เหตุศักยภาพแหล่งปิโตรเลียมไทยต่ำ คาดมีการแข่งขันราคาก๊าซฯรุนแรง เอกชนประเมินอาจไม่คุ้มทุน พร้อมยันจะเสนอครม.ตัดสินใจให้หน่วยงานรัฐที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมถือหุ้นในแปลงสัมปทานด้วย สัดส่วน 25% เริ่มพิจารณาซองประมูลวันพรุ่งนี้ ก่อนเคาะเสนอ ครม.ภายในธันวาคม 2561

57192
วีระศักดิ์ พึ่งรัศมี

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า จากการกำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลแหล่งปิโตรเลียมแปลง G1/61 (เอราวัณ) และแปลง G2/61 (บงกช) ที่ผ่านหลักเกณฑ์เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามเงื่อนไขที่กำหนดใน TOR เพื่อขอรับการคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนา และผลิตก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แปลง ร่วมกับภาครัฐเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพนั้น

ในวันนี้ ( 25 ก.ย.)  มีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูล แปลง G1/61 (เอราวัณ) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited  ร่วมกับ บริษัท MP G2 (Thailand) Limited สัดส่วนการถือหุ้น 74/26 และบริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd. สัดส่วนการถือหุ้น 60/40

แปลง G2/61 (บงกช) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited และบริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. ร่วมกับ บริษัท Mitsui Oil Exploration Co., Ltd.

เอราวัณ

วันพรุ่งนี้ (26 ก.ย.) คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขอที่มีตนเองเป็นประธาน จะเปิด 3 ซองพร้อมกันเพื่อพิจารณา ประกอบด้วย ซองเอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย ซองเอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน และซองเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ได้แก่  แผนงาน ช่วงเตรียมการ แผนงานสำรวจ และแผนการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม

หากผ่านเกณฑ์จึงจะเปิดซองที่ 4 เป็นซองสุดท้าย ซึ่งเป็นซองเอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ และสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเสนอ ครม.ได้ในเดือนธันวาคม 2561

สำหรับเกณฑ์คะแนนการพิจารณานั้น เป็นราคาก๊าซธรรมชาติที่เสนอขายสัดส่วน 65% การแบ่งสัดส่วนกำไร (Profit Sharing)  25% โบนัส หรือผลตอบแทนพิเศษ 5% และอัตราการจ้างพนักงานคนไทย 5%

ขณะเดียวกันระยะเวลาการให้สัมปทานระยะ 20 ปีต่ออายุได้ 10 ปี โดยช่วง 10 ปีแรกกำหนดให้ต้องผลิตก๊าซธรรมชาติอย่างน้อย 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลบ.ฟุตต่อวันสำหรับแหล่งบงกช ด้านการแบ่งปันสัดส่วนกำไรให้รัฐต้องไม่น้อยกว่า 50%

ทางด้านเงื่อนไขการให้รัฐถือหุ้นในแปลงปิโตรเลียมนั้น นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ได้กำหนดเป็นกติกาให้ผู้ยื่นประมูลต้องเสนอให้รัฐเข้ามาถือหุ้นในแปลงสัมปทานสัดส่วน 25% หากไม่เสนอถือว่าตกเงื่อนไข

bongkot

แต่จะให้หน่วยงานใดเข้าไปถือนั้น ครม.จะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย โดยทุกหน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปถือได้ทั้งสิ้น รวมถึงรัฐวิสาหกิจ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจะตัดสินใจจะร่วมลงทุนหรือไม่ หากร่วมต้องอยู่บนกติกามาตรฐาน คือ ต้องใส่เม็ดเงินลงทุนเข้าไปด้วยในฐานะผู้ถือหุ้นอื่นๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะศึกษาก่อนว่าหน่วยงานใดมีคุณสมบัติ เพื่อพิจารณานำเสนอต่อคณะกรรมการปิโตรเลียม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และครม.ตัดสินใจต่อไป  โดยรัฐสามารถตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในภายหลังได้

“ถือว่ามีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมประมูลน้อย มีหลายเจ้าถอนตัวจากการประมูล เช่น บริษัท Total E&P Thailand นอกจากเรื่องศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมของไทยแล้ว คงมีการประเมินว่าจะมีการแข่งขันกันเสนอราคาก๊าซฯระหว่างผู้ประมูลจนอาจไม่คุ้มการลงทุน ซึ่งโดยปกติธุรกิจสำรวจและผลิตจะต้องได้ IRR ไม่ต่ำกว่า 13-14% ขณะที่เกณฑ์การให้คะแนนเป็นเรื่องราคาก๊าซฯถึง 65%”

นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า การเปิดประมูลครั้งนี้จะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เกิดการจ้างงานในประเทศ และมีปิโตรเลียมรองรับความต้องการในประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

Avatar photo