Politics

‘ต่างชาติอย่ายุ่ง’ เรื่องของประเทศไทย โพลเผยนักการเมือง ตัวการพาแทรกแซง

ต่างชาติอย่ายุ่ง เรื่องของประเทศไทย ซูเปอร์โพล เผย นักการเมืองควรร่วมมือกับคนในประเทศ แก้ไขปัญหา ไม่ใช่พาต่างชาติ เข้ามาแทรกแซง ชักศึกเข้าบ้าน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ต่างชาติ อย่ายุ่ง เรื่องของคนไทย” พบว่า 98.3% ต้องการให้ต่างชาติ รักษาความเป็นมหามิตรประเทศ กันมายาวนาน ปล่อยให้ประเทศไทย มีอิสระ เสรีภาพ แก้ปัญหาเอง เพราะเป็นเรื่องของประเทศไทย

ต่างชาติอย่ายุ่ง เรื่องของประเทศไทย

รองลงมาคือ 97.6% ต้องการให้ นักการเมือง พรรคการเมือง ร่วมมือกับประชาชน ในการแก้ปัญหาภายในประเทศไทยด้วยกันเอง  อย่าชักศึกเข้าบ้าน อย่าพาต่างชาติมาแทรกแซง ขณะที่ 97.5% ระบุ นักการเมือง พรรคการเมืองบางพรรค แกนนำม็อบบางคน ร่วมมือต่างชาติ ช่วยยุยง ปลุกปั่นความแตกแยกของคนในชาติ หวังแลกผลประโยชน์กัน

นอกจากนี้ ยังพบว่า 97.1% มองว่า ต่างชาติเข้าแทรกแซง อ้างความชอบธรรม หลังประเทศไทยพังพินาศ เข้ามาจัดระเบียบ กอบโกยผลประโยชน์ชาติไทยไป

ขณะที่อีก 87.6% ต้องการให้ ต่างชาติ อย่าเข้ามายุ่ง ยุยง ปลุกปั่นกระแส สนับสนุนม็อบ เพราะกลัวว่าจะพังพินาศ เหมือนหลายประเทศทั่วโลก ที่ต่างชาติเข้าแทรกแซง เช่น ลิเบีย ฮ่องกง ตูนิเซีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่ทุกวันนี้ประชาชนในแต่ละประเทศเป็นทุกข์ เดือดร้อน หลังความแตกแยกของคนในชาติ และรุนแรงบานปลาย

ประเด็นที่ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือ 96.8% ระบุว่า การชุมนุม หรือ ม็อบ ไม่ใช่ทางออก เพราะซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน วิกฤติเศรษฐกิจ และวิกฤติโควิด-19 โดยอยากให้ทุกฝ่าย หันมาเจรจา แก้ปัญหาวิกฤติร่วมกัน จะเป็นทางออกของประเทศ ขณะที่ เพียง 3.2% เท่านั้นที่ระบุว่า ม็อบ คือ ทางออก

ขณะเดียวกัน ผลการสำรวจ “เสียงประชาชนในโลกโซเชียล” (Social Media Voice) ผ่านระบบ Net Super Poll ในการศึกษาแนวโน้มความเคลื่อนไหว ข้อความการเมือง 4 ข้อความ ได้แก่ เยาวชนปลดแอก หยุดคุกคามประชาชน สู้เป็นไทถอยเป็นทาส และ WhatHappenInThailand พบข้อมูลที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มผู้ใช้งานเคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) ระดมปั่นกระแสเข้ามาในประเทศไทย จากต่างประเทศ ทำให้เกิดภาพลวงตา สูงกว่าความเป็นจริงประมาณ 7 เท่า

โพล

ทั้งนี้ มีการค้นพบว่า เมื่อมีจำนวนผู้เคลื่อนไหว 1 หมื่นคน จะทำให้เห็นเป็นว่ามี 7 หมื่นคน ถ้ามี 1 แสนคน จะทำให้เห็นว่ามี 7 แสนคน ถ้ามี 1 ล้านคนจะทำให้เห็นว่ามี 7 ล้านคน

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า มีกลุ่มผู้ใช้งานในโลกโซเชียล ที่เคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) ขับเคลื่อนข้อความการเมือง ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย มีจำนวนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้งานในโลกโซเชียลที่เคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) ภายในประเทศไทย

“บางข้อความทางการเมือง ใช้เพื่อยุยงปลุกปั่นกระแสเกือบ 200 เท่า มากกว่าความเป็นจริง ในประเทศไทย เพราะมาจากต่างชาติ เช่น จำนวนผู้ใช้งานเคลื่อนไหวข้อความการเมืองที่ว่า “WhatHappenInThailand” มีจำนวนในประเทศไทยเพียง 12,290 บัญชีผู้ใช้งานเคลื่อนไหวสูงเท่านั้น แต่เมื่อรวมต่างชาติเข้ามา พบว่า มีจำนวนสูงถึง 2,379,617 บัญชีผู้ใช้งานเคลื่อนไหวสูง”ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กล่าว

ที่น่าพิจารณาคือ ข้อความการเมืองที่ว่า หยุดคุกคามประชาชน มีกลุ่มบัญชีเคลื่อนไหวสูง (High-Active Users) อยู่ในประเทศไทยจำนวน 20,517 บัญชีแต่มาจากต่างชาติ 1,557,871 บัญชี นอกจากนี้ ข้อความ เยาวชนปลดแอก มีอยู่ในประเทศไทย 20,440 บัญชี แต่มาจากต่างชาติ 636,715 บัญชี

ในส่วนของ ข้อความการเมืองปั่นกระแสที่ว่า “สู้เป็นไท ถอยเป็นทาส” พบว่า มีเหลือในประเทศไทยเพียง 849 บัญชี และรวมต่างชาติแล้วก็มีเพียง 852 บัญชี ชี้ให้เห็นว่า เป็นการใช้ข้อความที่ไม่ได้ผล เพราะเมื่อใช้ข้อความการเมืองนี้ ทำให้ประชาชน คนไทยนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงเป็น พระราชบิดาแห่งสิทธิเสรีภาพ และพระราชบิดาแห่งสิทธิมนุษยชน โดยทรงประกาศเลิกทาส

ในแง่จิตวิทยา กลับเกิดผลในทางตรงกันข้าม เพราะทำให้ประชาชนคนไทย สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของในหลวงรัชกาลที่ ๕ และทำให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ ใกล้ชิดวิถีชีวิตของประชาชนคนไทย ดูแลเพื่อประโยชน์สุข ของประชาชนอย่างแท้จริง

จากผลการศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า มีขบวนการยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความแตกแยก ของคนในชาติจริง และกำลังสุมหัวกันทุกวัน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ของขบวนการสร้างความแตกแยก ของคนในชาติ เหมือนที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ เช่น ลิเบีย ตูนิเซีย เกาะฮ่องกง และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

จากนั้น องค์กร ต่างชาติ และรัฐบาล ต่างชาติ จะอ้างความชอบธรรม เข้ามาจัดระเบียบในประเทศไทย และกอบโกยผลประโยชน์ชาติ ทรัพยากรของชาติจากประเทศไทยไป

ผลสำรวจดังกล่าว มาจากกรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 21,393 ตัวอย่างในโลกโซเชียล และ “เสียงประชาชนในสังคมดั้งเดิม” (Traditional Voice) จำนวน 1,742 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 – 24 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo