Politics

‘นายกฯ’ เร่ง 3 แนวทางหา ‘วัคซีนโควิด-19’ ให้คนไทย ยันมีใช้ใกล้เคียงต่างชาติ

“นายกฯ” เร่ง 3 แนวทางหา วัคซีนโควิด-19 ให้คน ไทย ยันมีใช้ในเวลาใกล้เคียงกับทั่วโลก ลุยเจรจาความร่วมมือ แอสตราเซเนกา” บริษัทยาชื่อดังให้จบเดือนนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งล่าสุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เร่งรัดให้ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศ ไทยจะมี วัคซีนโควิด-19 ใช้ในเวลาใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่สถาบันวัคซีนแห่งชาติแล้ว โดยขณะนี้ได้ทำการวิจัยและพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ผ่านการดำเนินการ 3 แนวทาง ได้แก่

  • การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองภายในประเทศ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 400 ล้านบาท
  • การทำความร่วมมือวิจัยและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากต่างประเทศ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณแล้ว 600 ล้านบาท
  • การจัดซื้อ จัดหาวัคซีนด้วยการนำเข้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ 

ประยุทธ์142

การวิจัยและพัฒนา “วัคซีนโควิด-19” เองในประเทศ ไทย

แนวทางแรกนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ใช้ ในภาวะที่มีความต้องการใช้วัคซีนสูง ในขณะที่การผลิตในช่วงแรกอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก

ทั้งนี้ การพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด และอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ได้แก่

  • วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งพัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนาวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วัคซีนชนิด DNA โดย บริษัท ไบโอเนท-เอเซีย จำกัด
  • วัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีการสกัดโปรตีนจากพืช โดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด

ผู้วิจัยได้เข้าหารือกับหน่วยงานด้านควบคุมกำกับคุณภาพวัคซีนของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนา วัคซีนโควิด-19 ดำเนินอยู่บนกฎเกณฑ์ที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และอยู่ระหว่างการแสวงหาความร่วมมือหรือพัฒนาศักยภาพในด้านการขยายขนาดการผลิต เพื่อทำการผลิตวัคซีนต้นแบบสำหรับทดสอบในมนุษย์ ตามแผนที่วางไว้คือ ในไตรมาสแรกของปี 2564

แม่สอด โควิด
ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก เทศบาลนครแม่สอด

ความร่วมมือวิจัยและรับทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

แนวทางนี้เป็นการเจรจาเพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต วัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตวัคซีนที่กำลังทดสอบวัคซีนในคนระยะที่ 3 และวัคซีนมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จทั้งในเอเชียและยุโรป เช่น บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด

โดยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการผลิตและจัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ร่วมกับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ระหว่างหน่วยงานและองค์กรที่สำคัญ ดังนี้ คือ กระทรวงสาธารณสุข, บริษัทสยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด, บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด และ บริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด

ขอบข่ายของหนังสือแสดงเจตจำนงครอบครอบคลุมถึงความร่วมมือ ในด้านการพัฒนาศักยภาพการผลิตวัคซีนของหน่วยงานภายในประเทศ โดยให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นฐานการผลิต วัคซีนโควิด-19 แห่งหนึ่งของบริษัทแอสตราเซเนกา จำกัด และมีการตกลงที่จะยอมรับความเสี่ยงในการผลิตร่วมกัน รวมทั้งการประสานกับหน่วยงานควบคุมกำกับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัคซีนได้

ทั้งนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คือ บริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุผ่านเทคโนโลยีชั้นสูงแห่งเดียวของคนไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่คิดค้น พัฒนา ผลิตวัตถุดิบยา ผลิตยา บรรจุยา และจัดจำหน่ายยาชีววัตถุ ตั้งแต่ก้าวแรกของการผลิตจนนำส่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบยาจากภายนอก ก่อตั้งขึ้นในปี 2552 เพื่อสานต่อพระราชปณิธานใน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงริเริ่มเรื่องการดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพของคนไทยไว้

แนวทางนี้มีการเจรจาเพื่อให้เกิดการลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 เพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนจำนวน 26 ล้านโด๊ส (20% ของประชากร) ให้แก่ประชากรไทย

ขณะนี้ ทุกภาคส่วนได้เร่งดำเนินการเจรจาต่อรองในประเด็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563

วัคซีนโควิด-19

จัดซื้อ-จัดหา ด้วยการนำเข้าจากผู้ผลิตในต่างประเทศ

แนวทางนี้เป็นการจองล่วงหน้าผ่าน COVAX Facility และการตกลงแบบทวิภาคี

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมใน COVAX facility เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติร่วมกับกรมควบคุมโรค กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนในประเทศ เร่งประสานความร่วมมือ เพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึง วัคซีนโควิด-19 ได้

นายอนุชา กล่าวย้ำว่า “รัฐบาลโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชากรไทยในทุกช่องทาง เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้โดยเร็วที่สุด”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo