Lifestyle

กรมควบคุมโรค เตือน ‘5 โรค 2 ภัยสุขภาพ’ ที่มาพร้อม ‘ลมหนาว’

เตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ ที่มาพร้อมลมหนาว กรมควบคุมโรค ออกประกาศ ประชาชนควรระมัดระวัง สั่งหน่วยงานในสังกัด เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์โรค

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงออกประกาศ เตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ ที่มาพร้อมลมหนาว

เตือน 5 โรค 2 ภัยสุขภาพ

ทั้งนี้เนื่องจาก อากาศที่หนาวเย็น อาจทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย ซึ่งกรมควบคุมโรคมีความห่วงใยสุขภาพของประชาชนในช่วงฤดูหนาว จึงขอให้ประชาชน หมั่นดูแลร่างกาย ให้อบอุ่นและแข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อลดโอกาส ที่จะเจ็บป่วย จากโรคและภัยสุขภาพ

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศ เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพ ที่เกิดในช่วงฤดูหนาว ของประเทศไทย พ.ศ.2563 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ

1. โรคไข้หวัดใหญ่ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี พบมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อัตราการเสียชีวิตมักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว

2. โรคปอดอักเสบ พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อจากการหายใจหรือสัมผัสละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อผ่านการไอ จาม แล้วนำมาสัมผัสที่จมูก ตา หรือปาก

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองโรค สามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น

  • โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ

โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน อาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย

โรคดังกล่าว ป้องกันได้โดยการดูแลสุขอนามัย เลือกรับประทานอาหาร ที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย ดื่มน้ำที่สะอาด รับประทานอาหาร ที่ปรุงสุกและสะอาด อาหารค้างมื้อควรเก็บในตู้เย็น และอุ่นให้ร้อนทุกครั้งก่อนรับประทาน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์
  • โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว เช่น โรคหัด, โรคมือ เท้า ปาก

1. โรคหัด เกิดจากการหายใจเอาละอองอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป อาการจะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา และจะมีไข้สูง ตาแดงก่ำ 3-4 วัน จึงเริ่มมีผื่นขึ้นลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ

 

โรคหัด ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกตอนอายุ 9-12 เดือน เข็มสองตอนอายุ 2 ปีครึ่ง

2. โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงและหายเองได้

ในการป้องกัน ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน สถานศึกษาตรวจคัดกรองเด็กทุกคนก่อนเข้าเรียน หากพบอาการสงสัยว่าป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติ

  • ภัยสุขภาพ อาทิ การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว และการขาดอากาศหายใจจากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย

1. การเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว นิยามคือ การเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุที่เกิดขึ้น ในหรือนอกที่พักอาศัย เช่น บ้าน อาคาร สถานที่สาธารณะ โดยไม่ได้มีเครื่องนุ่งห่ม หรือเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอ ในพื้นที่อากาศหนาว และคาดว่า เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว

โรคหน้าหนาว1

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเสียชีวิต ที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ในช่วงฤดูหนาว ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม 2562 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่ามีผู้ป่วยเข้านิยามเฝ้าระวังฯ 37 ราย เสียชีวิตภายในบ้าน 25 ราย และนอกบ้าน 12 ราย

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ ไม่มีผ้าห่ม หรือสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ไม่เพียงพอ รองลงมาคือ มีโรคประจำตัว และมีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ ตามลำดับ

สำหรับการป้องกัน ควรเตรียมความพร้อมร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสุขภาพแก่บุคคลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ให้สวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่เพียงพอและอยู่อาศัยในที่อบอุ่น งดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รักษาความสะอาด ล้างมือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมถึงไม่ห่มผ้าหรือสวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น

2. การขาดอากาศหายใจ จากการสูดดมก๊าซพิษจากอุปกรณ์ที่ใช้เพิ่มความอบอุ่นร่างกาย

ในฤดูหนาว จะมีประชาชนท่องเที่ยว ตามภูเขาและยอดดอย และพักผ่อนในเต็นท์ โรงแรม หรือรีสอร์ต โดยเรื่องที่น่าห่วง คือ อาจได้รับพิษจาก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) คาร์บอนมอนนอกไซด์(CO) จากการใช้อุปกรณ์เพิ่มความอบอุ่น เช่น ตะเกียง เตาอั้งโล่ และเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส

เนื่องจาก ระบบเผาไหม้เชื้อเพลิงไม่สมบูรณ์ ทำให้ก๊าซสะสมในปริมาณมาก จนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้อย่างเฉียบพลัน

เห็นได้จากข้อมูลปี 2562 กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้เฝ้าระวังเหตุการณ์การป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส พบว่ามีรายงาน 4 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 5 ราย และเสียชีวิต 1 ราย  ดังนั้น จึงควรระมัดระวัง การใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส และอุปกรณ์ทำความอบอุ่นต่าง ๆ

cold 1284028 1280

การป้องกันคือ ไม่ควรจุดตะเกียงหรือเตาไฟที่ใช้น้ำมัน หลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงภายในเต็นท์และภายในที่พักอาศัยที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอ เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต ควรมีการตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน และการบำรุงรักษาเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส มีช่องหรือพัดลมระบายอากาศที่ได้มาตรฐาน ติดป้ายเตือนอันตราย และข้อควรปฏิบัติในการใช้งานอย่างชัดเจน ควรเว้นระยะเวลาการอาบน้ำต่อกันหลายคนอย่างน้อย 15-20 นาที เพื่อให้อากาศระบายออก

ขณะที่สถานประกอบการ ควรมีถังออกซิเจนขนาดเล็ก เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉิน หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียน หน้ามืด หายใจลำบาก ควรรีบปิดเครื่องทำน้ำอุ่นและรีบออกจากห้องน้ำ หรือพบเห็นคนหมดสติขณะอาบน้ำ ควรเปิดประตูเพื่อระบายอากาศ นำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่ง ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และโทรศัพท์แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรค ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo