The Bangkok Insight

จับตาตลาดป่วนรับเลือกตั้งสหรัฐ ชี้ ‘ไบเดน’ชนะ เศรษฐกิจไทยสดใส

‘เลือกตั้งสหรัฐ’ ในวันที่ 3 พ.ย.นี้ ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้ผลสำรวจจะชี้ให้เห็นว่านายโจ ไบเดน ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนิยมทิ้งห่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ออกเป็น 2 กรณีด้วยกัน ได้แก่

  •  กรณีดีที่สุด : นายโจ ไบเดนได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ และกระบวนการถ่ายโอนอำนาจมีความราบรื่น บนสมมติฐานที่พรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาพร้อมกับพรรคเดโมแครตชนะขาดลอยในการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบ Popular vote ทั้งจากคูหาเลือกตั้งและทางไปรษณีย์แบบไร้ข้อกังขา
  • กรณีเลวร้าย : นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ผ่านการเลือกตั้งจากคณะผู้เลือกตั้ง แต่พรรคเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในกรณีนี้ นายโดนัลด์ ทรัมป์อาจไม่ได้แรงสนับสนุนจากฝ่ายนิติบัญญัติเลย และอาจทำให้การใช้นโยบายกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นไปอย่างจำกัด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังไม่ตัดความเป็นไปได้ของการเกิดกรณีที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งผ่านช่องทางไปรษณีย์และต้องรอผลการตัดสินของศาลสูงหากมีข้อโต้เถียงผลคะแนนทางไปรษณีย์ ซึ่งจะส่งผลต่อความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลให้ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในกำหนดการเดิมในวันที่ 20 มกราคม 2564

ทั้งนี้ จะทำให้การดำเนินนโยบายเร่งด่วนมีปัญหาตามมา อันจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทย จึงนับเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ตลาดเงินตลาดทุน…เตรียมรับมือความไม่แน่นอน

แม้ผลสำรวจคะแนนนิยมของคู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งจากหลายสำนักยังคงสะท้อนว่า นายโจ ไบเดนตัวแทนพรรคเดโมแครตมีโอกาสชนะการเลือกตั้งในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 นี้ และพรรคเดโมแครตอาจสามารถครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาด้วย ซึ่งจะทำให้การผ่านร่างกฎหมายต่างๆ มีกระบวนการที่สั้นลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความไม่แน่นอนของศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบนี้ยังมีอยู่ ทั้งจากผลผู้แพ้-ชนะการเลือกตั้งที่อาจพลิกไปจากผลสำรวจ และภาวะปั่นป่วนที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งจนทำให้การประกาศรับรองผลการเลือกตั้งต้องมีกระบวนการที่ล่าช้าออกไป

ดังนั้น การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกรอจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง และอาจเป็นชนวนกระตุ้นให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย 

สำหรับผลต่อตลาดเงินตลาดทุนในระยะถัดไปนั้น ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ ทั้ง 2 กรณีข้างต้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหว-แนวโน้มของตลาดเงินตลาดทุนแตกต่างกัน

  • กรณีดีที่สุด : หากนายโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้ง และกระบวนการถ่ายโอนอำนาจมีความราบรื่น อาจมีผลทำให้เงินดอลลาร์ฯ มีแนวโน้มโอกาสอ่อนค่าลงมาก เนื่องจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ตามแนวนโยบายของนายโจ ไบเดนจะเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของสหรัฐฯ (ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ เพิ่มเติมจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด)
  • ขณะที่ยอดขาดดุลการคลังและการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นมากจะเร่งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ผลทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นต่อการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด เพราะแม้เฟดจะส่งสัญญาณยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำใกล้ศูนย์ไปจนถึงปี 2566 แต่การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอาจทำให้เฟดต้องพิจารณาความจำเป็นของการใช้เครื่องมือนโยบายการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะเครื่องมือ Yield Curve Control เพื่อช่วยกดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่หากการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 ประสบความสำเร็จในช่วงปลายปี 2564 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของนายไบเดนช่วยหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้ดีขึ้น ก็อาจทำให้มีโอกาสเห็นเฟดกลับมาส่งสัญญาณเริ่มถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณแบบไม่จำกัดในปี 2565 (เป็นอย่างเร็ว) ได้เช่นกัน

  • กรณีเลวร้าย : หากนายโดนัลด์ ทรัมป์พลิกโผชนะการเลือกตั้งกลับมาครองตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนในระยะสั้น เนื่องจากเป็นกรณีที่อยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของเสียงส่วนใหญ่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี แนวนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์น่าจะสะท้อนว่า แนวโน้มการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ อาจไม่รุนแรงเท่ากับกรณีของนายโจ ไบเดน เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่า
  • ดังนั้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจไม่เร่งตัวขึ้นมาก และน่าจะเห็นประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วิพากษ์การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดอย่างต่อเนื่อง ส่วนทิศทางเงินดอลลาร์ฯ นั้น แม้ตลาดจะมีความคุ้นเคยกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่อจีนและท่าทีที่ปรับเปลี่ยนบ่อยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แต่คงต้องยอมรับว่า ปัจจัยเสี่ยงนี้อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ ขยับแข็งค่าขึ้นได้ในบางช่วง แม้แนวโน้มระยะยาวของเงินดอลลาร์ฯ จะถูกกดดันจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด

ผลต่อไทยขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นหลัก

ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะคงไว้ซึ่งจุดยืนร่วมกันในการปลดล็อกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินในเบื้องต้นว่า ในปี 2564 รูปแบบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของแต่ละพรรคการเมือง อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของไทย ดังนี้ 

ผลทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คงต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่เป็นสำคัญ ซึ่งภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นปลายน้ำ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลแปรรูป เป็นหลัก

ขณะที่การส่งสินค้าเพื่อสนับสนุนภาคการผลิตไปสหรัฐฯ มีค่อนข้างน้อยและกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่ไทยเป็นฐานการผลิต อาทิ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) และไดโอท

  • ผลทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย คงต้องจับตานโยบายต่างประเทศที่มีจุดยืนร่วมกันโดยเฉพาะนโยบายโดดเดี่ยวจีน เนื่องจากมุมมองของตัวแทนทั้งสองพรรคที่อยู่ในรัฐสภาสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนซึ่งสะท้อนออกมาผ่านนโยบายต่างๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอยู่ในทิศทางเดียวกันคือ เริ่มไม่ไว้วางใจจีนมากขึ้น
  • ดังนั้น ไม่ว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีและจำนวนฐานเสียงในสภาคองเกรสจะตกอยู่กับพรรคการเมืองใด ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่กลับไปแน่นแฟ้นได้ดังช่วงก่อนยุคสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ แต่ด้วยวิธีการดำเนินนโยบายที่ต่างกันก็ส่งผลต่อไทยในรูปแบบที่ต่างกัน ดังนี้

เลือกตั้งสหรัฐ ครั้งนี้ ยังต้องจับตาความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งที่มีโอกาสพลิกผันได้จนกว่าจะถึงวันที่ 20 มกราคม 2564 ซึ่งแนวนโยบายของว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ และจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลต่อภาคธุรกิจและการค้ากับไทยที่ยังต้องเฝ้าติดตาม 

ผลต่อเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้การบริหารประเทศของนายโจ ไบเดนด้วยขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่และครอบคลุมน่าจะทำให้เกิดการจ้างงานแล้วช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นกลับมาได้ไว จะส่งผลดีต่อไทยในแง่การส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2564 กลับมาเร่งตัวได้ดีกว่าที่ร้อยละ 10-12 มีมูลค่าการส่งออกที่ 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ

ขณะที่การส่งออกของไทยภายใต้นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยิ่งทำให้การส่งออกของไทยเติบโตค่อนข้างจำกัดอาจต่ำกว่าร้อยละ 5.0 มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ

ขณะที่ผลทางอ้อมผ่านนโยบายด้านต่างประเทศโดยเฉพาะท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนซึ่งภาพของสงครามการค้าจะไม่ร้อนแรงไปกว่าปัจจุบันถ้านายโจ ไบเดนเข้ามาบริหารประเทศ แต่จะยิ่งทวีความไม่แน่นอนถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ยังได้บริหารงานต่ออีกสมัย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จุดร่วมเดียวกันของทั้งคู่คือเป้าหมายที่จะโดดเดี่ยวจีนนั่นทำให้ในระยะต่อจากนี้ไป การลงทุนยังคงไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมการค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะในส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตหรือประกอบในจีน ลดบทบาทลงไปโดยปริยาย

โดยอาจเกิดการเบี่ยงเบนการค้าในสินค้าข้างต้นไปยังประเทศอื่นที่นักลงทุนต่างชาติเลือกกระจายหรือย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเข้าไปตั้งฐานการผลิตอยู่แทน อาทิ เวียดนาม สหรัฐฯ ละตินอเมริกา อินเดีย

ผลการ เลือกตั้งสหรัฐ มีผลต่อตลาดการเงินไทยนั้น มองว่า เงินบาทอาจมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวนมากขึ้น เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอน

อย่างไรก็ดี หากประเด็นทางการเมืองเริ่มคลี่คลายลง คาดว่า เงินดอลลาร์ฯ อาจกลับไปอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าตามสัญญาณดอกเบี้ยต่ำของเฟด และอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่ามากขึ้นในกรณีที่นายไบเดนชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากผลจากการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของพรรคเดโมแครตจะทำให้ปัญหาการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ย่ำแย่ลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้เงินบาทมีโอกาสกลับไปแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากปัจจัยทางการเมืองในประเทศทยอยคลี่คลายลงในระยะถัดๆ ไป

เลือกตั้งสหรัฐ มีผลต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องในปี 2564 โดยประเมินว่า กนง. จะพิจารณาความจำเป็นของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม จากปัจจัยภายในของไทย โดยเฉพาะแนวโน้มและจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนเป็นสำคัญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

คู่ชิงประธานาธิบดีแข่งเดือด! ‘นิวยอร์ก’ ยกระดับคุมเข้ม ‘เลือกตั้งสหรัฐ’

บทวิเคราะห์: โควิด-19 ระบาดหนักอาจเป็นลางร้ายของ ‘ทรัมป์’ ในการเลือกตั้งสหรัฐ

‘ทรัมป์’ เปิดทางคว่ำบาตรต่างชาติแทรกแซงเลือกตั้งสหรัฐ

Avatar photo