Business

‘เวอร์ชวล ช้อปปิ้ง’มาแรง!!‘ทีวีไดเร็ค’ยึดจอทีวีดิจิทัล

นับตั้งแต่ปี 2556 ที่ประเทศไทยเริ่มใช้บริการ “3จี” ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือของคนไทย ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อและการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

อีกจุดเปลี่ยนในฝั่งธุรกิจทีวี จากการเกิดขึ้นของ “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2557 ทำให้ช่องฟรีทีวี เพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว จากการประมูลใบอนุญาต 24 ช่องใหม่  และเหลือ 22 ช่องออกอากาศในปัจจุบัน ด้วยจำนวนช่องเพิ่มขึ้นและแต่ผู้ชมเท่าเดิม อีกทั้งมีสื่อออนไลน์เข้ามาเป็น “ตัวเลือก”ในการรับชม ส่งผลให้ธุรกิจทีวีดิจิทัล ต้องปรับ “บิซิเนส โมเดล” เพื่อสร้างโอกาสหารายได้ นอกจากใช้ “เรตติ้ง” ขายโฆษณา

รูปแบบธุรกิจที่ได้รับความสนใจและมีการขยายตัวผ่านทีวีดิจิทัล คือ “ทีวี ช้อปปิ้ง” ด้วยโมเดลการเช่าเวลาเพื่อขายสินค้า เจ้าตลาดที่เข้าไปเช่าเวลาช่องทีวีดิจิทัลมากที่สุด ต้องยกให้ “ทีวีไดเร็ค”

ความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้นช่วงต้นปีนี้  ทีวีไดเร็ค ได้ทำสัญญาเช่าเวลาและร่วมผลิตรายการ 18 ชั่วโมง กับทีวีดิจิทัล ช่อง 19 สปริงนิวส์  ซึ่งรับผิดชอบผลิตข่าว 6 ชั่วโมง สัญญา 4 ปี  ตั้งแต่ปี 2561-2565

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ทีวีไดเร็ต
ทรงพล ชัญมาตรกิจ

ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าและบริการผ่าน Omni Channel  กล่าวว่าหลังจากร่วมเป็นพันธมิตรกับทีวีดิจิทัล ช่อง 19  เพื่อนำเสนอรายการทีวีช้อปปิ้ง เจาะกลุ่มเป้าหมายคนเมือง พบว่าได้รับผลตอบรับที่ดี

บริษัทจึงขยายการลงทุนเพิ่มเติมด้วยการเข้าบริหาร ทีวีดิจิทัล ช่อง 19 อย่างเต็มตัว โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท วันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา ได้อนุมัติการเข้าลงทุนถือหุ้น 90.1% ในบริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ช่องข่าว “สปริงนิวส์” จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยงบประมาณ 1,080 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าหุ้น 949 ล้านบาท และค่าจ้างผลิตข่าว 130 ล้านบาท ระยะเวลา 124 เดือน หรือตลอดอายุสัญญาใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลือ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 24 เมษายน 2572

“เวอร์ชวล ช้อปปิ้ง”เทรนด์แรง-ทีวีช้อปปิ้งแข่งเดือด

เหตุผลการลงทุนเป็น “เจ้าของ” ทีวีดิจิทัล จากเดิมที่ใช้รูปแบบเช่าเวลา เพราะเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจ Virtual Shopping ทั้งช่องทางออนไลน์และทีวี ช้อปปิ้ง จากพฤติกรรมผู้บริโภคคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าโดยไม่จำเป็นต้องเห็นสินค้าจริง พบว่าธุรกิจไดเร็คเซล ผ่านช่องทางออนไลน์ เติบโตปีละ 30% ส่วนทีวีช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้ง ขยายตัวต่อเนื่องปีละ 20%  จากตลาดรวมมูลค่า 6,000 ล้านบาทในปี 2557  คาดว่าปี 2561 จะอยู่ที่ 13,500 ล้านบาท  ดังนั้นการเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล น่าจะมีโอกาสเติบโตในธุรกิจนี้

หลังจากเป็นเจ้าของช่องทีวีดิจิทัล ช่อง 19 แล้ว ยังคงเช่าเวลาผลิตรายการทางช่องทีวีดิจิทัลอื่นๆ อยู่ต่อไป เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีทีวีดาวเทียม ที่ออกอากาศ “โฮมช้อปปิ้ง” ในเครืออีก 6 ช่อง

นอกจากนี้ ปัจจัยการลงทุนช่องทีวีดิจิทัล เพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่งและเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับธุรกิจ เนื่องจากตลาด “ทีวีช้อปปิ้งและโฮมช้อปปิ้ง” มีผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนทำตลาดอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ทำตลาดรวม 11 ราย มีจดทะเบียนทั้งหมด 4,000 ล้านบาท  พบว่าเป็นรายใหญ่จากต่างประเทศที่เข้ามาร่วมทุนกับผู้ประกอบการไทย เช่น  “โอ ช้อปปิ้ง” เป็นการร่วมทุนของ  CJ ธุรกิจรายได้ระดับแสนล้านบาท จากเกาหลีใต้ ร่วมทุนกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

“ทรู ซีเล็คท์”  กลุ่ม GS Shop ผู้ผลิตรายการโฮมช้อปปิ้งอันดับหนึ่งจากเกาหลีใต้ ร่วมทุนกับทรูวิชั่นส์ และเดอะมอลล์ กรุ๊ป , High Shopping  กลุ่มอินทัช ร่วมทุนกับ ฮุนไดโฮมช้อปปิ้งจากเกาหลี  Shop Channel โฮมช้อปปิ้งอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ร่วมทุนกับ ไอ.ซี.ซี และเซ็นทรัล, Tiger Shopping กลุ่มทุนจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการไทย ที่พัฒนาธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง โดยใช้ฐานธุรกิจช่องทีวีดิจิทัลมาต่อยอดสร้างรายได้ เช่น  อาร์เอส เปิดธุรกิจไลฟ์สตาร์ ขายสินค้าเฮลท์แอนด์บิวตี้  โดยมี  1781 โฮมช้อปปิ้ง ทำตลาด และเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ อาร์เอส เปลี่ยนธุรกิจสื่อไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์  ล่าสุดช่องโมโน 29 เปิดบริษัททำธุรกิจทีวีช้อปปิ้งภายใต้ชื่อ “29ช้อปปิ้ง” อีกราย

มองว่าธุรกิจ B2C ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ปัจจุบันช้อปออนไลน์ มีสัดส่วน  2.1% ของตลาดค้าปลีกมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ส่วนตลาดทีวีช้อปปิ้งยังไม่ถึง 1% ของตลาดค้าปลีกขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีสัดส่วน 30%, เกาหลีใต้สัดส่วน 17% และจีน 15% ดังนั้นในประเทศไทยตลาดทีวีช้อปปิ้ง จึงมีโอกาสเติบโตได้อีก 5-10 เท่า

ทีวีไดเร็ค

ชูกลยุทธ์ “ออมนิ แชนแนล”

ทรงพล กล่าวว่ากลยุทธ์การบริหารทีวีดิจิทัล ช่อง 19  จะพัฒนาให้เป็น Massive Awareness เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายวงกว้างเพราะทีวีดิจิทัล สามารถเข้าถึงฐานผู้ชมได้ทั่วประเทศ  โดยจะบริหารธุรกิจทีวีช้อปปิ้งรูปแบบ Omni Channel  ผสานทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มความหลากหลายของสินค้า และสร้าง Customer Experience ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าตรงจุด

“กลยุทธ์การตลาดที่ใช้เป็นรูปแบบ  Nua Marketing  คือไม่มีอะไรชัดเจนเป็นการผสมผสารการทำการตลาดหลายอย่าง เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อในทุกช่องทางที่สะดวก”

ทางด้าน พงษ์ชัย ชัญมาตรกิจ หัวหน้าสายงานสถานีโทรทัศน์ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทจะพัฒนา ช่อง 19 ให้เป็นช่องทีวีดิจิทัลที่มีรายการนำเสนอสินค้าต่างๆ ที่หลากหลาย ควบคู่กับนำเสนอรายการข่าวสารที่มีสาระ โดยวางแผนเพิ่มการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพและเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ที่ยังขาดช่องทางเข้าถึงผู้บริโภค

พร้อมทั้งตอกย้ำความเป็นผู้นำโฮมช้อปปิ้ง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพแผนงานทำการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์อีคอมเมิร์ช และพันธมิตรด้านโซเชียลมีเดีย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศและสามารถกระตุ้นการตัดสินใจซื้อได้อย่างดี

ส่วนแนวทางการบริหารทีวีดิจิทัล ช่อง 19 วางแผนออกอากาศรายการทีวี ช้อปปิ้งตามข้อกำหนดของ กสทช. โดยจะมีการผลิตรายการข่าวและสาระไม่น้อยกว่า 50% ของเวลาออกอากาศทั้งหมด เพื่อให้มีครบทั้งเนื้อหาสาระในเชิงข่าวและรายการประเภทอื่นๆ

ทีวีไดเร็คตั้งเป้าว่าจะมีรายได้จากการขายสินค้าผ่านช่อง 19 ในปีนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5% ของเป้าหมายยอดขายรวม 3,990 ล้านบาท  คาดว่าการลงทุนทีวีดิจิทัล ช่อง 19 จะคุ้มทุนในช่วง 6-7 ปี

Avatar photo