The Bangkok Insight

พิษโควิด-19 ดันหนี้คนไทยพุ่ง ‘1 ใน 3’มีภาระหนี้สูง ตัวฉุดเศรษฐกิจ

หนี้คนไทย พุ่งสูงขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 เผย 1 ใน 3 มีภาระหนี้สูง ดันหนี้ครัวเรือนเพิ่มเป็น 83.8% ของจีดีพี ขณะที่ซ้ำเติมจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจสูงขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงาน ” มหกรรมการเงินหรือ Money Expo”ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงต้นปีนี้ ได้ซ้ำเติมความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และมีผลกระทบโดยเฉพาะต่อรายย่อย ทำให้ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดรายได้ ความสามารถในการชาระหนี้ลดลง

ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบลงอย่างไรและเมื่อใด โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ในการกลับสู่ระดับก่อนโควิด 19 ความไม่แน่นอนนี้จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในหลายปีที่ผ่านมา 

1 ใน 3 ของคนไทยในปัจจุบัน มีภาระหนี้สูง จนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการอุปโภคบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ล่าสุดพบว่า 

  • คนไทยเป็นหนี้เร็ว เริ่มเป็นหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยกว่าครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30-40 ปี เป็นหนี้ โดยส่วนมากเกิดจากหนี้ส่วนบุคคลหรือหนี้บัตรเครดิต 
  • นอกจากนี้ คนไทยเป็นหนี้นาน โดยร้อยละ 80 ของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นในระยะเวลา 9 ปี มาจากผู้กู้รายเดิม และ 1 ใน 5 ของคนหลังเกษียณยังเป็นหนี้ โดยคนช่วงอายุ 61-65 ปี มีหนี้เฉลี่ยสูงกว่าแสนบาท 

สถานการณ์โควิด-19 ทําให้สุขภาพการเงินของคนไทยอ่อนแอมากขึ้น จากการถูกลดชั่วโมงการทำงานจนถึงการถูกเลิกจ้าง ทำให้ขาดสภาพคล่องของรายได้ ซึ่ง หนี้คนไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากประมาณร้อยละ 80 ต่อ GDP เมื่อสิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ร้อยละ 83.8 ต่อ GDP ในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบ เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถผ่านพ้นวิกฤตโควิด 19 ไปได้ ซึ่งพิจารณาตามสถานะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน โดยมาตรการของธปท.ที่ดำเนินการแก้ปัญหา คือ  

  • สําหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาระยะสั้นที่ต้องการสภาพคล่องเป็นการชั่วคราว มาตรการที่เหมาะสมกับลูกหนี้กลุ่มนี้ มีการพักชาระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน สาหรับสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด และการลด อัตราการผ่อนชาระขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน 
  • สําหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบระยะยาว ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ เปลี่ยนสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งเป็นสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว (term loan) รวมถึงโครงการคลินิกแก้หนี้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ช่วยบรรเทาภาระหนี้ให้แก่กลุ่มครัวเรือนที่รายได้ลดลงเมื่อกลับมาทำงานภายหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 

การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนจําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ แข็งแกร่ง ผ่านการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นรากฐานทางการเงินที่มั่นคง

อ่านเพิ่มเติม

ไม่มีอะไรใหม่ จาก ‘เศรษฐพุฒิ’ ผู้ว่าธปท.

Avatar photo