Economics

เปิดกำไรกลุ่ม ‘ธนาคารพาณิชย์’ ไตรมาส 3/63 ดิ่งแรงเฉียด 45%

กำไรกลุ่มแบงก์ ไตรมาส 3/63 ดิ่งเฉียด 45% เหตุต้องตั้งสำรองเพิ่มรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หลัง “โควิด” กระหน่ำ “นักวิเคราะห์” มองไตรมาส 4/63 ต้องทำใจ กำไรยังดิ่งอีก เพราะความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้สูงขึ้น

เปิดกำไรกลุ่มแบงก์ ไตรมาส 3/63 ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทย (TMB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (TISCO) ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) บริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (LHFG)

กำไรกลุ่มแบงก์ ไตรมาส 3/63 ของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง สามารถทำกำไรรวม 29,691 ล้านบาท ลดลง 44.95% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอด 9 เดือนปีนี้ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทำกำไรรวมได้ 106,837 ล้านบาท ลดลง 33.12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 159,753 ล้านบาท

กำไรกลุ่มแบงก์

สำหรับ 5 อันดับแรกของธนาคารที่กำไรลดลงมากที่สุด ได้แก่

  • CIMBT กำไรสุทธิ 82 ล้านบาท ลดลงจาก 360 ล้านบาท หรือ ลดลง 77%
  • SCB กำไรสุทธิ 4,641 ล้านบาท ลดลงจาก 14,798 ล้านบาท หรือ ลดลง 68.9%
  • BBL กำไรสุทธิ 4,017 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,783 ล้านบาท หรือ ลดลง 57.4%
  • KTB กำไรสุทธิ 3,057 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,354 ล้านบาท หรือ ลดลง 51.9%
  • KBANK กำไรสุทธิ 6,678 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 9,951 ล้านบาท หรือ ลดลง 32.8% อย่างไรก็ตามหากเทียบไตรมาสก่อนหน้า ธนาคารกสิกรไทยกำไรเพิ่มขึ้น 207%

โดยธนาคารที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากสุด ในรอบ 9 เดือน คือ TISCO ที่สำรองเพิ่มขึ้น 591% รองลงมาคือ TMB สำรองเพิ่ม 129% และ กรุงไทย 87.7%

ส่วนแบงก์ที่มีหนี้เสียคงค้างมากที่สุด คือ KTB ที่ 110,662 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% BBL ที่ 107,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และ KBANK ที่ 96,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.9%

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานสำหรับงวด 9 เดือน ปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับงวด 9 เดือน ปี 2562 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 16,229 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 13,695 ล้านบาท หรือ 45.77%

ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss) เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 17,692 ล้านบาท หรือ 70.24% โดยการคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ประกอบกับมาตรการของทางการที่ให้สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ

ทำให้ยังคงต้องมีการติดตามดูแลคุณภาพหนี้อย่างใกล้ชิด แม้ว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 5,301 ล้านบาท หรือ 6.87% ส่วนใหญ่เกิดจากการเติบโตของสินเชื่อ รวมทั้งการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรับเกี่ยวกับการให้สินเชื่อด้วยวิธีดอกเบี้ยที่แท้จริง (EIR) ซึ่งเป็นการปฏิบัติตาม TFRS 9 ประกอบกับการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลง และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากเงินรับฝาก เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ลดลง

กำไรกลุ่มแบงก์

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ (งบการเงินรวมก่อนสอบทาน) ในไตรมาส 3 ของปี 2563 จำนวน 4,641 ล้านบาท ลดลง 69% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการตั้งเงินสำรองปกติที่สูงขึ้นในไตรมาสนี้ และการเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายการกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิต

อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมรายการพิเศษดังกล่าว กำไรสุทธิลดลง 56% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเก้าเดือนแรกของปี 2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 22,252 ล้านบาท ลดลง 36% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินผลประกอบการธนาคารไตรมาสสุดท้ายว่า ยังคงมีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าหลายๆไตรมาสที่ผ่านมา แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยกลับมาฟื้นตัว แต่ยังเปราะบางมาก เพราะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างส่งออก ท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ดังนั้น ประเมินว่า ไตรมาสนี้ระบบธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายรวมสูงกว่าไตรมาสอื่นๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง ที่น่าจะอยู่ระดับสูง จากการตั้งการ์ดของแบงก์เพิ่มขึ้น รองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งจะกดดันให้กำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ติดลบต่อเนื่อง หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะเดียวคาดว่า เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ น่าจะสูงกว่าประมาณการที่เคยมองไว้ที่ 3.5% ในสิ้นปี 2563 นี้ จากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

นายธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มผลดำเนินงานของหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในงวดไตรมาส 4/63 จะอ่อนตัวลงอีกจากไตรมาส 3 ที่ได้ทยอยประกาศกันออกมาเกือบทั้งหมดแล้ว เพราะจะได้รับผลจากค่าใช้จ่ายและการตั้งสำรองหนี้ที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้มีความเสี่ยงด้านคุณภาพหนี้สูงขึ้น ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 ของภาครัฐ ในส่วนพักชำระเงินต้นระยะเวลา 6 เดือนครบกำหนด ขณะที่ลูกหนี้บางส่วนที่พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยระยะเวลา 3 เดือนซึ่งได้พ้นระยะเวลาการพักชำระไปแล้วและได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ต่อก็มีความเสี่ยงในเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไหลย้อนกลับมาได้

จากรายงานผลประกอบการงวด 9 เดือน ธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ที่ทางทรีนีตี้ทำการศึกษา ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทย (TMB) และทิสโก้ (TISCO) พบว่า มีการตั้งสำรองหนี้ (ECL) งวด 9 เดือน อยู่ที่ 154,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 63% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากแต่ละธนาคาร ได้มีการปรับแบบจำลองการตั้งสำรองหนี้ เพื่อสะท้อนภาพเศรษฐกิจในอนาคตและมีการตั้งสำรองส่วนเกิน เพิ่มเติม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต ส่งผลให้กำไรกลุ่มฯ งวด 9 เดือน อยู่ที่ 79,129 ล้านบาท ลดลง 37% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

“หากดูตัวเลข NPLของ 6 ธนาคาร พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพราะยังได้รับผลจากการที่ลูกหนี้บางส่วนในปัจจุบันยังอยู่ในมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 จึงยังสามารถคุม NPL ได้แต่อนาคตก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงเมื่อมาตรการสิ้นสุดลง” นายธนภัทร กล่าว

ข้อมูลจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo