Politics

นิสิต ‘คณะจุฬาฯ’ ยื่นฟ้องนายกฯ-บิ๊กป้อม ขอให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง

ขอให้เพิกถอน สถานการณ์ฉุกเฉิน ร้ายแรงและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง นิสิตกลุ่ม “คณะจุฬาฯ” และพันธมิตร ยื่นฟ้อง “นายกฯ-บิ๊กป้อม-ผบ.ตร.” ต่อศาลแพ่ง 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (21 ต.ค. 63) นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามกลุ่ม คณะจุฬาฯ และกลุ่ม TPC Awaken เดินทางมาที่ ศาลแพ่ง ถนนรัชดา เพื่อฟ้องร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิด

โดย คณะจุฬาฯ ขอให้เพิกถอนประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง เพิกถอนประกาศและคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ห้ามมิให้นำมาตรการคำสั่งและการกระทำมาใช้กับโจทก์และผู้ชุมนุม พร้อมขอคุ้มครองชั่วคราวและคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินด้วย โดยการฟ้องคดีนี้มีเครือข่ายองค์กรกฎหมายสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร ร่วมสนับสนุนดำเนินการ

คณะจุฬาฯ สถานการณ์ฉุกเฉิน

แถลงการณ์ คณะจุฬาฯ ต้านประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน

เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ (Freedom of Peaceful Assembly) ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับ เช่น ข้อ 20 (1) ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR) หรือข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on civil and Political Rights หรือ ICCPR) รวมถึงเป็นเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

แต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หรือ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร อันออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นเครื่องมือทางกฎหมายและอำนาจในการปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธของประชาชนชาวไทยอย่างเกินขอบเขตโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

การสลายการชุมนุมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยไม่ปรากฏเหตุอันตรายร้ายแรงนั้น เป็นการกระทําที่ขัดกับหลักการปฏิบัติสากล

การสลายการชุมนุมในช่วงค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งใช้มาตรการที่ไม่ปฏิบัติตามหลักสากล เช่น ใช้รถฉีดน้ําแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีไปที่ผู้ชุมนุม ทั้งที่ในทางปฏิบัติ การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงจะต้องใช้กับกรณีที่มีการจลาจลที่เสี่ยงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเท่านั้น, พยายามในการใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมและขู่จะใช้กระสุนยางโดยไม่มีเหตุอันสมควร

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการใช้อำนาจรัฐตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ เพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินขอบเขต อย่างอยุติธรรม และอย่างน่าละอาย โดยไม่เคารพหลักการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศแต่อย่างใด

พวกเรา นิสิตและนักศึกษาทั้ง 6 คน ในฐานะประชาชนที่เพียงออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพที่พวกเราอันพึงมี และควรต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ แต่กลับถูกรัฐบาลกระทำการจำกัดและลิดรอนอย่างเกินสมควรโดยไร้เหตุผลและความชอบธรรม จึงได้ทำการเป็นโจทก์ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการใช้อำนาจทั้งปวงของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตามประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในกรุงเทพมหานครไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาในคดีนี้

พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาล ในฐานะองค์กรตุลาการ จะทำหน้าที่ในการพิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมและความกล้าหาญเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่

ด้วยความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน

กลุ่มนิสิตและนักศึกษา

ชุมนุม 14 ตุลา อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังเหตุการณ์ #ม็อบ14ตุลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มคณะราษฎรได้นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล โดยเกิดกรณีขบวนเสด็จฯ ผ่านผู้ชุมนุมด้วย ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่กรุงเทพฯ ความว่า

โดยที่ปรากฏว่า มีบุคคลหลายกลุ่ม ได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นนวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน

มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง

กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo