Lifestyle

กรมสุขภาพจิต แนะ 5 วิธี เสพข่าวไม่ให้เครียด ท่องไว้ ‘สตินำอารมณ์’

เสพข่าวไม่ให้เครียด กรมสุขภาพจิต แนะนำ 5 วิธี เน้นใช้สตินำอารมณ์ สำรวจตนเองสม่ำเสมอ เปิดใจรับฟังคนรอบข้าง ลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ

แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดี กรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากการที่ กรมสุขภาพจิต ติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา พบว่า คนไทยมีความสนใจ เรื่องของการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นอย่างมาก ดังนั้น สิ่งที่ต้องระวังต้อง เสพข่าวไม่ให้เครียด

เสพข่าวไม่ให้เครียด

นอกจากนี้ ยังพบว่า สถานการณ์ทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น มีการแตกต่าง ในความคิด ความเชื่อ และการแสดงออกในแต่ละบุคคล และยังพบการถกเถียง และใช้ถ้อยคำรุนแรงต่าง ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ ในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้ประชาชน ต้องเผชิญความเครียด ที่มากขึ้น จากการรับฟังข่าวสาร

แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวว่า โดยปกติแล้ว การติดตามข่าวสาร และสถานการณ์ต่าง ๆ ของประเทศ เป็นเรื่องที่ดี แต่การติดตามข่าวสารที่มากไป โดยเฉพาะข่าวสาร ที่มีการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์แบบต่าง ๆ เช่น โกรธ เศร้า กังวล เมื่อต้องประสบกับอารมณ์เหล่านี้ซ้ำ ๆ อาจส่งผลกระทบ ทำให้เกิดปัญหาทางกายมากขึ้นได้ เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจไม่อิ่ม ปวดท้อง ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ

ขณะเดียวกัน ยังอาจส่งผลให้เกิด อาการทางจิตใจ ได้แก่ อาการวิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน หรือ หมกมุ่นมากเกินไป เบื่อหน่าย หรือ ท้อแท้ ได้เช่นเดียวกัน

สิ่งสำคัญคือ คนจำนวนมาก ไม่ตระหนักว่า มีความผิดปกติด้านอารมณ์ เมื่อไม่รู้ตัว ก็ไม่ได้จัดการอย่างถูกต้อง จนอาจส่งผลกระทบ กับประสิทธิภาพในการทำงาน สมาธิไม่ดี ทำงานบกพร่อง หรืออารมณ์แปรปรวน จนมีปัญหาความสัมพันธ์ ทั้งเรื่องส่วนตัว และกับเพื่อนร่วมงาน ความเครียดสะสม ยังอาจนำไปสู่การตัดสินใจผิดพลาด นำชีวิตดิ่งลงได้โดยง่าย

เครียด

อธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าวต่อไปว่า การรับฟังข่าวสารทางการเมือง ที่มีความร้อนแรง ในขณะนี้นั้น สามารถใช้หลัก 5 วิธีที่ควรปฏิบัติ ได้แก่

1. ให้ความสำคัญ กับสติของตนเอง ทุกครั้งเมื่อต้องเสพข่าว สังเกตอารมณ์ของตนเอง และผลกระทบจากอารมณ์นั้น และ ติดตามจิตใจของตนเอง สม่ำเสมอในระยะยาว

2. จัดสรรเวลา ในการติดตาม ข่าวสารทางการเมือง อย่างพอดี โดยไม่ควรติดตามต่อเนื่อง และใช้เวลานานจนเกินไป

3. พยายามทำกิจวัตรประจำวัน ให้เป็นปกติ หันเหความสนใจ จากข่าวสารทางการเมือง ไปเรื่องอื่นบ้าง ละเว้นการรับรู้ข่าวสาร ที่ส่งผลต่อความเครียดชั่วคราว ไม่ละเลยหน้าที่ของตนเอง ทั้งการทำงาน การเรียน และ การใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว

4. เคารพความเชื่อ และความคิดเห็น แบบประชาธิปไตย ที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ โดยไม่ดูข่าว หรือ รับข้อมูลข่าวสาร เพียงด้านเดียว หรือ สื่อเดียว ฝึกการเปิดใจกว้าง และทดลองรับข้อมูลข่าวสาร ที่ไม่ตรงกับความเชื่อเดิม ควรรับฟัง และ เปิดใจรับฟังความคิด และ ความเชื่อ ของคนรอบข้างด้วย

5. การพักผ่อน และ การผ่อนคลายความเครียด เช่น การนอน ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ ทำสมาธิ ฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การฝึกหายใจคลายเครียด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากอาการยังไม่ดีขึ้น เช่น เกิดอาการ ควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มีความเครียดรุนแรง สูญเสียความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สามารถขอรับบริการปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้าน สุขภาพจิต ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือ โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo