Economics

ครม. ไฟเขียวเวนคืนที่ดิน ‘บางกรวย-ศาลายา’ 350 ไร่ สร้างถนน 12 กม.

ครม. ไฟเขียวร่างพระราชกฤษฎีกา เวนคืนที่ดิน “บางกรวย-ศาลายา” 350 ไร่ สร้างถนน 12 กม. เชื่อมถนนอินทร์ แก้รถติด 

รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันนี้ (20 ต.ค. 63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางใหญ่ ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ ตำบลบางคูเวียง ตำบลปลายบางตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ คค. รับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

เวนคืน ศาลายา บางกรวย

รายละเอียดกฎหมาย เวนคืนที่ดิน “ศาลายา บางกรวย”

กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลบางใหญ่ ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ ตำบลบางคูเวียง ตำบลปลายบาง ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อสร้างทางหลวงชนบทสายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท นฐ. 5035 กับทางหลวงชนบท นบ. 1020 (ถนนนครอินทร์) มีส่วนแคบที่สุด 200 เมตร และส่วนกว้างที่สุด 600 เมตร เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้อง เวนคืน โดยแน่ชัด อันจะเป็นการอำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง ซึ่งเป็นกิจการสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ คค. เสนอว่า

1. กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท นฐ. 5035 กับทางหลวงชนบท นบ. 1020 (ถนนนครอินทร์) ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนกาญจนาภิเษกและถนนบรมราชชนนี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่และผู้ใช้เส้นทางมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สามารถรองรับการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดนครปฐม อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาพื้นที่สองข้างทางให้มีความเจริญมากยิ่งขึ้น

กรมทางหลวงชนบทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบท สายเชื่อมระหว่างทางหลวงชนบท นฐ. 5035 กับทางหลวงชนบท นบ. 1020 (ถนนนครอินทร์) ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจพบว่า มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 10,662.85 ล้านบาท อัตราส่วนผลประโยชน์ต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) มีค่า 2.63 และอัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) มีค่า 23.74% ถือได้ว่าโครงการดังกล่าวนี้มีความเหมาะสมในการดำเนินการ

fig 16 08 2019 11 52 11

2. ลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างถนนใหม่ขนาด 6 ช่องจราจร ชนิดผิวจราจรลาดยาง ช่องจราจรกว้างช่องละ 3.25 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ทางเท้ากว้างข้างละ 4.00 เมตร (มีเฉพาะเขตชุมชน) เกาะกลางแบบยกกว้าง 2.00 เมตร เขตทางกว้าง 40.00 – 50.00 เมตร ระยะทางยาวประมาณ 12.00 กิโลเมตร

มีที่ดินที่ถูก เวนคืน ประมาณ 350 ไร่ มีอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนประมาณ 87 รายการ ใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการประมาณ 8,722.000 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 29.000 ล้านบาท ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 4,392.000 ล้านบาท และค่าก่อสร้างประมาณ 4,301.000 ล้านบาท

3. กรมทางหลวงชนบทมีแผนการดำเนินการเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ มีดังนี้

  • สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ ในปี พ.ศ. 2563
  • จ่ายเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ ในปี พ.ศ. 2565 – 2566
  •  เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2567 – 2569 

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบกับโครงการก่อสร้างถนนสายดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว ซึ่งผลการรับฟังความคิดเห็นโดยรวมมีผู้เห็นด้วยกับโครงการ 83.8%

และสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมทางหลวงชนบทตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะ เวนคืน ในท้องที่ตำบลบางใหญ่ ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ ตำบลบางคูเวียง ตำบลปลายบาง ตำบลศาลากลาง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี และตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo