The Bangkok Insight

1,118 นักวิชาการเคลื่อนไหวต้าน ‘สลายชุมนุม-ขจัดผู้เห็นต่าง’ ขู่หยุดสอนทั่วประเทศ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ยื่นรายยื่อ 1,118 นักวิชาการ  แสดงจุดยืน พร้อมเรียกร้องรัฐบาลหยุดสลายการชุมนุม หยุดขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศ

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นำโดย นายอนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ พร้อมอาจารย์และนักศึกษาประมาณ 50 คน เดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาล โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนิน ยื่นแถลงการณ์เรื่อง หยุดสลายการชุมนุมและขจัดผู้เห็นต่าง สร้างทางออกให้ประเทศ

นักวิชาการ

นายอนุสรณ์ อ่านแถลงการณ์ว่า การชุมนุมของนักเรียนนิสิตนักศึกษา รวมถึงประชาชนตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาบนฐานของข้อเท็จจริง หลักการ และเหตุผล โดยมีผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นตัวตั้ง อีกทั้งยังเป็นไปอย่างสงบและปราศจากอาวุธ แต่รัฐบาลไม่รับข้อเสนอ และยังขัดขวาง ทั้งการตั้งข้อหาและจับกุมคุมขังแกนนำและผู้เข้าร่วม

โดยเฉพาะการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมคืนวันที่ 16 ต.ค. ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บและสถานการณ์บานปลาย ไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลงแต่อย่างใด

คนส. พร้อมกับนักวิชาการ รวมถึงประชาชนที่มีรายชื่อแนบท้ายจำนวน 1,118 รายชื่อ จึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้

1.ขอประณามการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม บริเวณแยกปทุมวันคืนวันที่ 16 ต.ค. เพราะเป็นการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่เป็นไปตามหลักการและขั้นตอนที่เป็นสากล และใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนหรือเกินกว่าเหตุ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มีอาวุธ ไม่ได้มีพฤติการณ์รุนแรง และจำนวนมากเป็นเยาวชน รัฐบาลจะต้องยุติการสลายการชุมนุมและรับผิดชอบต่อความผิดพลาดนี้

2.รัฐบาลต้องยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขจัดผู้เห็นต่าง ต้องยกเลิกการตั้งข้อหาและต้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมทุกคนอย่างไม่เงื่อนไข ต้องยกเลิกการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เอาผิดผู้แสดงความเห็นต่างหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมถึงต้องยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงและการบังคับใช้กฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไม่สมควรแก่เหตุ

3.รัฐบาลต้องรับข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมไปพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งการให้ นายกฯ ลาออก การแก้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการปฏิรูปสถาบัน ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย โดยตั้งคณะกรรมการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะที่มาจากตัวแทนฝ่ายต่างๆ ในภาควิชาการ ประชาชน และนักเรียนนิสิตนักศึกษา เพราะปราศจากการเขียนกติกาสูงสุดที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น

นายอนุสรณ์ กล่าวว่าการยื่นแถลงการณ์วันนี้เป็นเพียงมาตรการเบื้องต้น แต่จะใช้การเคลื่อนไหวด้วยการไม่กระทำ เช่น นัดหยุดสอน ซึ่งคนส. มีอยู่ทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถ้าเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย นายกฯ ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องแต่โดยดี เราจะประสานความร่วมมือในกลุ่มนักวิชาการ งดเว้นการเรียนการสอนหรือหยุดชั้นเรียน

“ขณะนี้ยังไม่เริ่ม แต่รอดูสถานการณ์ว่ารัฐบาลจะตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมและข้อเรียกร้องของนักวิชาการอย่างไร ถ้าคำตอบไม่น่าพึงพอใจ เราจะคิดถึงมาตรการต่อๆไป”

นายอนุสรณ์ กล่าวว่าจะรอดูท่าทีของรัฐบาล 1 สัปดาห์ อย่างน้อยต้องให้รัฐบาลยุติสลายการชุมนุม และแกนนำต้องได้รับการประกันตัว ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขจัดผู้เห็นต่างและยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในกทม.

Avatar photo