Politics

‘พี่ศรี’ กระทุ้งใช้ ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.คอม’ ฟันเพจแกนนำม็อบ คนแชร์ข้อมูล

“ศรีสุวรรณ” มาแล้ว! กระทุ้งใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน – พ.รบ.คอม ” ฟ้องเพจแกนนำ ม็อบ “ปลดแอก-แนวร่วมฯ” คนแชร์ข้อมูลนัดหมายก็ไม่เว้น

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีการนัดหมายการชุมนุมสาธารณะในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคอื่น ซึ่งไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 34 โดยใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียประเภทต่างๆ รวมทั้งมีการปลุกระดมให้ประชาชนละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง จนเป็นเหตุให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง มาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา

มีการใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียทั้ง เพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โดยกลุ่มปลดแอกและกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เป็นแกนนำ ในการกำหนดทิศทางการชุมนุมสาธารณะที่ผิดกฎหมายว่าจะจัดการชุมนุมในบริเวณพื้นที่ใด เวลาใด ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

ชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ศรีสุวรรณ

กระทุ้งฟัน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” แกนนำ ม็อบ -คนแชร์ข้อมูล

การกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ที่ออกตามความใน มาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 และเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ฉบับที่ 4 เรื่อง ห้ามมิให้มีการ ชุมนุม หรือมั่วสุม  ซึ่งการฝ่าฝืนข้อห้ามตามประกาศดังกล่าว มีการกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวโดยชัดแจ้ง

นอกจากนั้น การใช้ช่องทางการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียดังกล่าว ยังเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 มาตรา14 อีกด้วย ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่สำคัญผู้ที่แชร์ หรือเผยแพร่ หรือส่งต่อซึ่งการนัดหมายการชุมนุมในแต่ละวัน ในแต่ละพื้นที่ก็ถือว่ามีความผิดตามไปด้วย เพราะถือว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ละเมิดกฎหมาย ก็ย่อมมีความผิดเทียบเท่ากับเจ้าของเพจโซเชียลดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา

ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความพร้อมรายชื่อ URL ของเจ้าของโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งเพจเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมทั้งรายชื่อผู้ที่แชร์ข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลต่างๆที่ผิดกฎหมาย ไปร้องเรียนกล่าวโทษต่อ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อติดตามเอาเจ้าของเพจ URL ที่ลงทะเบียนไว้ในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆมาลงโทษตามควรรลองของกฎหมายต่อไป

โดยสมาคมฯจะเดินทางไปร้องเรียนในวันพรุ่งนี้ที่ 21 ตุลาคม 2563 เวลา 10.00 น. ณ สำนักงาน บก.ปอท. ศูนย์ราชการฯ อาคาร B ชั้น 4 ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพฯ

S 13918314

“กระทรวงดิจิทัลฯ” เดินหน้าฟ้องแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อวาน (19 ต.ค. 63) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 เรื่อง ให้ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐของสื่อว่า

ที่ผ่านมาได้มีการติดตามและเฝ้าระวังการสื่อสารมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากพบการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อีกทั้งขณะนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย จึงจำเป็นต้องเข้มงวด

ทั้งนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีความพยายามสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียหลากหลายรูปแบบ จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงฯ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มอย่างผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 14-18 ตุลาคม 2563 เบื้องต้นพบผู้กระทำผิดประมาณ 300,000 URL โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพื่อระบุตัวบุคคลให้ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อไป

พร้อมฝากเตือนประชาชนให้ใช้สื่ออย่างระมัดระวัง เพราะในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมีข้อจำกัดมากขึ้น โดยเฉพาะห้ามยุยง ปลุกปั่นและสร้างความแตกแยก ดังนั้นหากมีการกระทำที่เข่าข่ายก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ส่วนกรณีที่ตำรวจประสานงานให้ตรวจสอบและปิดเว็บไซต์ข่าวและช่องทางในการนัดหมาย ชุมนุมนั้น ในการแจ้งความดำเนินคดี จะมีสำนักข่าวที่เข้าข่ายความผิดด้วย แต่จะถึงขั้นปิดหรือไม่ต้องตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งหากมีคำสั่งศาลให้ปิดก็จะประสานให้ปิดทันที ส่วนสื่อดิจิทัลก็จะประสานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ขณะที่สื่อออนไลน์ที่รายงานสถานการณ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียก็จะตักเตือนก่อน และจะดำเนินคดีต่อไป เบื้องต้นมีประมาณ 2-3 ราย ที่ใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กออกอากาศ และเป็นสถานีข่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo