CEO INSIGHT

‘ทีวีโฮมช้อปปิ้ง’ ตอบโจทย์ New Normal ต้นทุนต่ำ สต็อกน้อย

ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ทางออกผู้ประกอบการยุค ยุค New Normal ตอบโจทย์ ช้อปปิ้งไร้รอยต่อ ต้นทุนการตลาดต่ำ ไม่ต้องเก็บสต๊อกมาก เผย 9 เดือนโตเกือบ 20%

จากพฤติกรรมของคนไทย ที่ปรับเปลี่ยนสู่วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 และช่วงล็อกดาวน์ ส่งผลให้ผู้บริโภค หันมาเลือกซื้อสินค้า บนแพลตฟอร์ม ทีวีโฮมช้อปปิ้ง และแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น

ทีวีโฮมช้อปปิ้ง

นายธนะบุล มัทธุรนนท์ นายก สมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง  ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน 2563) มีอัตราการเติบโตเกือบ 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีมูลค่าตลาดรวม 10,700 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่า เป็นการเติบโตที่ สวนกระแสเศรษฐกิจ ชะลอตัว

ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภค หันมาเลือกซื้อสินค้า บนแพลตฟอร์มทีวีโฮมช้อปปิ้ง และแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก มีความสะดวกสบาย สามารถชำระเงิน ผ่านระบบออนไลน์ มีบริการจัดส่งสินค้าถึงปลายทาง รับประกันคืนสินค้า และจำหน่ายสินค้าโดยผู้ประกอบการ ที่มีความน่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่เคยชินกับการเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์หรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่

นอกจากนี้ ยังทำให้คนไทย เริ่มเห็นความสำคัญ ของการใช้จ่ายในรูปแบบ Cashless Society (สังคมไร้เงินสด) ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศไทย ในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล อีกทางหนึ่ง

สำหรับธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง และอี-คอมเมิร์ซ มีศักยภาพและโอกาสเติบโต อย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยคาดว่าภาพรวมในปีนี้ น่าจะเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% เนื่องจากภายหลังเกิด โรคระบาดโควิด-19 แพลตฟอร์มดังกล่าว สามารถขยายฐานลูกค้ามากขึ้น และเชื่อว่า จะเป็นลูกค้าประจำ ที่มีการซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับธุรกิจทีวีโฮมช้อปปิ้ง มีจุดเด่นด้านการนำเสนอสินค้า ผ่านแพลตฟอร์ม หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ช่องทางทีวีดิจิทัล ที่ออนแอร์ในช่วงเวลาโฆษณา ช่องทางทีวีดาวเทียม ที่เป็นรูปแบบช่องโฮมช้อปปิ้ง 24 ชั่วโมง และช่องทางออนไลน์ จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้อย่างครอบคลุม และสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งแบบไร้รอยต่อให้แก่ผู้ซื้อ

ทีวีโฮมช้อปปิ้ง

ขณะเดียวกัน ยังมีจุดแข็ง ด้านการสร้างคอนเทนต์ นำเสนอผลิตภัณฑ์ และความถี่การออกอากาศ รวมถึงการนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าสนใจ จึงทำให้ทีวีโฮมช้อปปิ้ง เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มขายสินค้า ที่ทรงพลัง สามารถกระตุ้นผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้าแบบเรียลไทม์

“วิถีชีวิต New Normal บวกกับโลก ที่กำลังก้าวสู่ยุคดิทัล และความเชื่อมั่นของลูกค้า ขับเคลื่อนให้การซื้อสินค้าทั้งใน อี-คอมเมิร์ซ และ ทีวีโฮมช้อปปิ้ง กลายเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มีศักยภาพ”นายธนะบุล กล่าว

ดังนั้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ ที่ต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโต ด้วยการขยายช่องทางจำหน่ายใหม่ เชื่อมโยงจากโลกออฟไลน์ มาสู่ช่องทางทีวีโฮมช้อปปิ้ง และการช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน Online Shopping ซึ่งสามารถจำหน่ายสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลา และสร้าง เอนเกจเมนต์ ให้แบรนด์สินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวต่อว่า ทีวีโฮมช้อปปิ้ง นับว่าเป็นช่องทางการจำหน่ายที่มีค่าใช้จ่าย และต้นทุนการบริหารจัดการต่ำกว่า เมื่อเทียบกับช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากไม่จัดเก็บค่าแรกเข้าผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่จำเป็นต้องสต๊อกสินค้าปริมาณมาก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ สามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างคล่องตัว สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก

พร้อมกันนี้ ทีวีโฮมช้อปปิ้ง ยังเป็นแพลตฟอร์ม ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อ และโฆษณาประชาสัมพันธ์ในตนเอง สามารถนำเสนอสินค้า และทำตลาดตรงกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Marketing) พร้อมกับการสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพภายใต้ กลยุทธ์ “Sale & Marketing” ที่สามารถดึงดูด และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ แบบเรียลไทม์

ขณะที่ธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง มีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ ทั้งกลุ่ม Baby Boomer ที่เกิดในช่วงปี 2489 – 2507 และกลุ่ม Gen X ที่เกิดในช่วงปี 2508 – 2522 ซึ่งยังมีพฤติกรรมรับชมทีวีเป็นสื่อหลัก และอยู่ในช่วงเรียนรู้การสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ จึงเป็นโอกาส และทางรอด ของผู้ประกอบการ ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ โดยการผสานช่องทางออฟไลน์ มาสู่ออนไลน์ หรือทีวีโฮมช้อปปิ้ง (Omni Channel) เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ในทุกช่องทาง

ส่วนเทรนด์สินค้าบนทีวีโฮมช้อปปิ้งพบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารเสริม เครื่องครัว และอุปกรณ์ออกกำลังกาย เป็นสินค้าที่มาแรง เนื่องจากโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค หันมาใส่ใจสุขภาพ

ด้านสินค้าที่มองว่า จะเป็นเมกะเทรนด์ ได้แก่ สินค้านวัตกรรมที่เหมาะกับผู้สูงอายุ สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendly Products) ที่คาดว่าจะมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo