Politics

‘คณาจารย์ วารสารฯ มธ.’ ขอรัฐหยุดแทรกแซง ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ

 คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ จี้รัฐบาลยุติแทรกแซง ปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน 

วันนี้ (19 ต.ค.) เฟซบุ๊กเพจ “JCTeam@yrservice” ของคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เผยแพร่แถลงการณ์ของ คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “ขอให้ยุติการแทรกแซงและปิดกั้นเสรีภาพของสื่อมวลชน” โดยระบุว่า

cover ม็อบ หยุดแทรกแซง

ตามที่มีเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชน เยาวชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ซึ่งโดยภาพรวมเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ได้มีการใช้กำลังของรัฐ ต่อผู้ชุมนุมในการกระชับพื้นที่ ซึ่งก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ และฝ่ายผู้ชุมนุม อีกทั้งมีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563 และข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ข้อ 2 (ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือ ทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ บรรดาที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร)

โดยมีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง ที่ 4/2563 ให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ตรวจสอบ และให้ระงับการออกอากาศรายการ ที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ของสื่อ 4 แห่ง ได้แก่ Voice TV ประชาไท The reporters และThe STANDARD  รวมถึงเพจของนักกิจกรรมคือ เยาวชนปลดแอก Free YOUTH นั้น

คณาจารย์ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วย กับการกระชับพื้นที่ของรัฐ และต่อประกาศและคำสั่ง ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องดังนี้

1. ขอให้ยกเลิกประกาศหรือคำสั่งใด ที่เป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อทุกประเภท

เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูล และข่าวสารจากแหล่งข้อมูล ที่มีความหลากหลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

พลเมืองมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในเชิงเปรียบเทียบด้วยตนเอง ดังนั้นการออกกฎระเบียบใดๆ เพื่อระงับหรือจำกัดสิทธิในการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนจึงเป็นสิ่งไม่สมควรในการกำกับดูแลสื่อในระบอบประชาธิปไตย

staa

2. ขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพสื่อได้ทำหน้าที่อย่างอิสระ

การเลือกปฏิบัติในการสั่งระงับหรือจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อบางราย ไม่อาจเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยแก่รัฐ แต่ยิ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อข้อมูลข่าวสารที่ผ่านการคัดกรองช่องทางการนำเสนอจากรัฐมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นในทางปฏิบัติ หากรัฐพบว่าสื่อใดนำเสนอข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง รัฐควรชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ ผ่านช่องทางต่างๆ ส่วนสื่อที่ละเมิดกฎหมาย รัฐสามารถใช้กฎหมายพื้นฐานที่มีอยู่ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ในการดำเนินคดี

3. ขอให้สื่อนำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมอย่างรอบด้าน

ขอให้สื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อสถาบัน นำเสนอเนื้อหาข่าวการชุมนุมและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ปราศจากการชี้นำต่อประชาชน เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การเพิ่มความขัดแย้งและใช้ความรุนแรง

4. ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรง และอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุม

จากการที่รัฐใช้กำลังเข้ากระชับพื้นที่กับผู้ชุมนุม จนเกิดการบาดเจ็บทั้งกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สิน ขอให้รัฐยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในทุกกรณี รวมทั้งแสดงการรับทราบข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม และอำนวยการจัดพื้นที่การเจรจาที่ปลอดภัยกับผู้ชุมนุมโดยด่วน

ในส่วนของผู้ชุมนุม เมื่อรัฐรับทราบข้อเสนอของผู้ชุมนุมแล้ว ขอให้ผู้ชุมนุมพิจารณาชะลอการชุมนุมไว้ชั่วคราว และเข้าร่วมเวทีการเจรจากับฝ่ายรัฐ เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธีร่วมกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo