Lifestyle

‘มะเร็งหลังโพรงจมูก’ ภัยเงียบซ่อนเร้น ตรวจพบเร็วรักษาหายได้

มะเร็งหลังโพรงจมูก ภัยร้ายที่ซ่อนเร้น กรมการแพทย์ โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เตือน หากมีอาการผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์ ตรวจพบเร็ว รักษาหายขาดได้

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า  มะเร็งหลังโพรงจมูก อาจเป็นโรคมะเร็งในบริเวณ ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยนัก เป็นโรคที่มักพบในประเทศแถบเอเชีย บางประเทศ เช่น จีน ไต้หวัน ฮ่องกง รวมถึงประเทศไทยของเราด้วย

มะเร็งหลังโพรงจมูก

 

สำหรับอุบัติการณ์ มะเร็งหลังโพรงจมูกในประเทศไทย พบในเพศชาย มากกว่าเพศหญิง ประมาณ 2 เท่า และมักพบในผู้ป่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2557 พบ ผู้ป่วยโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกเพศชาย 1087 คน เพศหญิง 462 คน คิดเป็นอุบัติการณ์ การเกิดโรค 2.62 และ 1.0 คน ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

มะเร็งหลังโพรงจมูก คือ ก้อนเนื้อผิดปกติ ที่เกิดขึ้นบริเวณหลังโพรงจมูก อาจไม่สามารถมองเห็นได้ ด้วยตาเปล่า ปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ แต่มีข้อมูลว่า อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัส Epstein-Barr Virus (EBV) การรับประทานอาหาร ที่มีสารไนโตรซามีน และการสัมผัสสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม อาทิ ฝุ่นไม้ บุหรี่ เป็นต้น

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ 1
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

ด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า มะเร็งหลังโพรงจมูกอาจไม่แสดงอาหารในระยะแรก ๆ โดยอาการ อาจจะปรากฏออกมา เมื่อมะเร็งเจริญเติบโตไปรอบ ๆ หรือมีขนาดใหญ่ จนปิดกั้นโพรงจมูกไปมากแล้ว

อาการทั่วไปของ โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ที่พบบ่อย คือ คัดจมูก น้ำมูกไหลข้างเดียว ทั้งที่ผู้ป่วยไม่ได้เป็นหวัด หรือ ภูมิแพ้ และยังมีอาการอื่น ๆ ที่มีความแตกต่างกัน ในคนไข้แต่ละราย ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากบริเวณไหน เช่น มีเลือดกำเดาไหล หูอื้อ ชาและปวดบวมบริเวณใบหน้า ปวดหัว และมีก้อนนูนอยู่บริเวณต้นคอ ใต้ติ่งหู เป็นต้น หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ในด้านการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะใช้กล้องส่องดูภายในจมูก เพื่อดูที่หลังโพรงจมูก ว่ามีความผิดปกติ เกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกมีลักษณะผิดปกติ เช่น เนื้อนูน ผิวขรุขระ มีเลือดซึม แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อนั้น ออกมาตรวจ และดูว่า มีการกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ หรือไม่

Nasopharyngeal carcinoma p2 01

ขณะที่การรักษาหลัก จะมี 3 วิธี ได้แก่ 1. ผ่าตัดในกรณีที่เนื้องอกอยู่ในระยะแรก ๆ ยังไม่มีการกระจายตัวมากนัก 2. การฉายแสง และ 3. การให้ยาเคมี

การป้องกันมะเร็งหลังโพรงจมูก ในเบื้องต้น ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือ หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ การสวมเครื่องป้องกัน ขณะปฏิบัติงาน ในโรงงานที่มีสารก่อมะเร็ง และสิ่งสำคัญ ควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อการรักษา ที่ทันเวลา เนื่องจากการรักษาโรค ในระยะแรกเริ่ม จะได้ผลดีกว่า ในระยะลุกลาม

โรคพยาบาลพญาไท กล่าวถึงสาเหตุของ มะเร็งหลังโพรงจมูก ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกมีหลายอย่าง เช่น

  • พันธุกรรม เนื่องจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก มีความชุกสูงเฉพาะในเขตภูมิศาสตร์ เช่น ประเทศจีนตอนใต้ และพื้นที่ที่มีชาวจีนอพยพไปอยู่ เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน ทำให้มีการสันนิษฐานว่า พันธุกรรมอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกได้
  • อาหารการกิน สารก่อมะเร็งไนโตรซามีน (Nitrosamine) เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก โดยหากสูดดมสารนี้ เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุหลังโพรงจมูก อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ของเซลล์เยื่อบุผิว จนเกิดการกลายพันธุ์ของเซลล์ได้ ซึ่งจะพบสารก่อมะเร็งชนิดนี้ ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหมักดอง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน หรือแม้แต่อาหารปิ้งย่าง
  • เชื้อไวรัส จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูก จะมีสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus – EBV) ในปริมาณที่สูงกว่าประชากรทั่วไปที่มีสุขภาพดี จึงสันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสตัวนี้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกด้วย
  • สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทางแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง ควันไฟจากการเผาไม้ หญ้า สารเคมีต่างๆ รวมไปถึงควันบุหรี่ อาจมีผลต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูกได้เช่นกัน
  • สุขภาพช่องปากที่ไม่ดี และภาวะอักเสบเรื้อรังของโพรงจมูก สุขอนามัยทางช่องปากที่ไม่ดี รวมไปถึงการอักเสบเรื้อรังของโพรงที่อยู่หลังจมูก ก็เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo