COLUMNISTS

12 ปี รัฐประหาร และ ดีลชินคอร์ป

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
307

กันยายนปีนี้ โลกระลึกถึงเหตุการณ์วินาศกรรมเวิร์ดเทรดเซ็นเตอร์ ครบ 17 ปี ตามด้วย ครบรอบ 10 ปี วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ทำเอาโลกทุนนิยมสั่นคลอน ส่วนบ้านเราครบรอบ 12 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กำลังเป็นวาระร้อน

ปีนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณ ออกสื่อมากกว่าวันที่ 19 เดือน 9 ปีก่อนๆ ด้วยเหตุผลที่คาดเดากันได้ หลายคนเห็นด้วยกับสิ่งที่อดีตนายกฯ พูด แต่อีกหลายคนแย้ง และยังย้อนให้กลับไปดูที่มาอีกด้วย

000 13F3D4

ก่อนการรัฐประหารครั้งนั้น ราว 7 เดือนเศษ วันที่ 23 มกราคม 2549 ครอบครัวชินวัตร และดามาพงศ์ ได้ตกลงขายหุ้น ในชินคอร์ป (บริษัทแม่ เอไอเอส ไทยคม ไอทีวี) หรือ อินทัช โฮลดิ้งส์ ปัจจุบัน จำนวน 1,487,740,120 หุ้น ราคา 49.35 ต่อหุ้น รวมมูลค่ากว่า 7.3 หมื่นล้านบาท ให้กับ เทมาเส็ก กองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์

ดีล หรือ การตกลงซื้อขายหุ้นครั้งนั้น มีมูลค่าสูงสุดนับแต่ก่อตั้งตลาดหุ้นในปี 2518 (นับจากปี 2549) เงินค่าหุ้นที่โอนเข้ามาในประเทศไทย ก่อนการซื้อขายกิจการจะถูกประกาศเป็นทางการ ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นทันควัน

หลังดีลเป็นข่าว มีคำถามจากสังคมตามมาชุดใหญ่ ไล่เรียงจากอดีตนายกฯ ทักษิณซุกหุ้นอีกหรือไม่ มูลค่าธุรกิจกลุ่มชินคอร์ป ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลพวงจากนโยบายผลประโยชน์ทับซ้อนของรัฐบาลทักษิณในช่วงก่อนหน้านั้น ที่ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางหรือไม่

กรณีแก้ไข กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ขยายสัดส่วนการถือครองหุ้นต่างชาติจาก 25 % เป็น 49 % ถูกเชื่อมโยงกับการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก และการเลิกระบบสัมปทานมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต ถูกมองว่าเข้าทางเอไอเอส ตามด้วยการตั้งนอมินีเข้าถือครองหุ้นของเทมาเส็ก เพื่อคงสถานะสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  แต่ที่ยืดเยื้อเป็นมหากาพย์คือภาระภาษีแอมเพิลริช

อดีตนายกฯ ทักษิณรวมทั้งผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลต.เวลานั้น ยืนยันการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีภาระภาษีเพราะชื้อขายในตลาดหุ้น แต่หุ้นชินคอร์ป ที่ แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ (บริษัทที่อดีตนายกฯทักษิณตั้งใน บริติช เวอร์จิน) ขายให้2 พี่น้อง พานทองแท้-พิณทองทา คนละ 329 .2 ล้านหุ้น ราคา 1 บาทต่อหุ้นก่อน(2พี่น้อง) ขายต่อให้เทมาเส็กราคา 49.35 บาทต่อหุ้น ยังเป็นปมยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้

เบญจา หลุยส์เจริญ สมัยเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากรวินิจฉัยว่า 2 พี่น้องไม่มีภาระภาษี (คนละ 7.941 พันล้านบาท)จากการซื้อขายหุ้นจำนวนดังกล่าว ต่อมาเบญจาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยคลังในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังคสช.ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปี 2557

คดีที่เบญจาถูกปปช.กล่าวโทษเป็นเจ้าพนักงานละเว้นปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีความคืบหน้าคดีภาษีแอมเพิลริช กลับมาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้ง เมื่อคดีใกล้หมดอายุความ ในวันที 31 มีนาคม 2560 ตอนนั้น รัฐบาลประยุทธ์ พลิกเกมใช้อภินิหาริย์ทางกฎหมาย เรียกเก็บภาษีจากอดีตนายกฯ ทักษิณแทน ต่ออายุความคดีออกไปอีก

ข้อสงสัยต่อธุรกรรมดีลชินคอร์ปของสังคม ลดความชอบธรรมทางการเมืองของอดีตนายกฯ ทักษิณ และตอกย้ำข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และเอื้อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม

ยิ่งอดีตนายกฯทักษิณ ออกมาปฏิเสธว่า ดีลเป็นเรื่องของลูกๆ โดยอ้างว่ากระแสโจมตีมาจากความอิจฉาตัวเดียว ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมขับไล่รัฐบาลทักษิณ กับ สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ มากขึ้น

การเมืองเวลานั้น 2 ขั้วการเมืองมาถึงจุดเผชิญหน้า และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ขณะนั้น ใช้เป็นข้ออ้าง ในการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ส่วนอดีตนายกฯ ทักษิณ หลังการรัฐประหาร ถูก คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ดำเนินคดีว่า ร่ำรวยผิดปกติจากการขายหุ้นชินคอร์ป มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท

ต่อมาปี 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณมูลค่า 4.63 หมื่นล้านบาท หรือ ส่วนที่พอกพูนขึ้นหลังเป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน เมื่อ 12 ปีก่อน นอกจากประเด็นว่า ใครบางคนขึงขังไม่อ่อนหวานเหมือนก่อนที่เป็นข่าวพาดหัวในช่วงสัปดาห์ก่อนแล้ว ยังเกี่ยวพันกับ ดีลชินคอร์ป และเหตุการณ์ก่อนหน้า อย่างแยกกันไม่ออกอีกด้วย