Lifestyle

สธ.แนะกินเจ ปลอดภัย ได้บุญ แต่ไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก ด้วย ‘หลัก 4 ล.’

กระทรวงสาธารณสุข โดย สคร.6 ชลบุรี แนะอิ่มบุญ อิ่มใจ กินเจปลอดภัย ไม่เพิ่มน้ำหนัก ด้วยการยึดหลัก 4 ล.

วันที่ 17 – 25 ตุลาคม 2563 เป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ ประชาชนจะรักษาศีล ปฏิบัติธรรม งดเว้นกินเนื้อสัตว์ เน้นผักผลไม้ โดยเชื่อว่า การกินเจเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ได้กุศล การละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการให้ชีวิตแก่สัตว์ ถือเป็นการเสริมบุญบารมีและยังเป็นโอกาสดีในการสร้างสุขภาพที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

อาหารเจ

แต่สิ่งสำคัญ ของการกินเจ คือ จะต้องกิน ให้ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากอาหารเจที่จำหน่ายส่วนใหญ่ มักทำจากแป้ง เป็นอาหารทอด ไขมันสูง และเค็ม จึงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

กระทรวงสาธารณสุข จึงได้แนะนำการกินเจให้อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย และมีสุขภาพดี โดยแนะนำให้ยึดหลัก 4 ล. ได้แก่

1. ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และอาหารที่มีส่วนผสมเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และละเว้นการกินอาหารรสจัด และผักที่มีกลิ่นฉุน 5 ชนิด (หัวหอม หลักเกียวหรือกระเทียมโทนจีน กระเทียม กุยช่าย และใบยาสูบ)

2. เลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช เห็ด ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้ เพื่อป้องกันการขาดโปรตีน เน้นเพิ่มผัก (ใบผัก) และผลไม้ (หวานน้อย) รวมทั้งเลือกร้านอาหารที่สะอาดได้มาตรฐาน

3. ล้างผักผลไม้ให้สะอาดตามขั้นตอน ก่อนปรุง ก่อนกิน โดยล้างผ่านน้ำไหล 2 นาทีตามด้วยการแช่ในสารละลาย เช่น เกลือ น้ำส้มสายชู ผงฟู หรือน้ำยาล้างผักประมาณ 15 นาที แล้วตามด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างสารละลายออกให้หมด ช่วยขจัดเชื้อโรค และลดการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างลงได้ ถึงร้อยละ 60 – 92

4. ลดอาหารประเภทแป้ง ไขมัน ของทอด อาหารประเภทผัดน้ำมัน และลดหวาน มัน เค็ม อาหารที่ปรุงรสจัด ควรเน้นอาหารที่ทำด้วยวิธีการนึ่ง ต้ม หรือตุ๋น

1 12

นางสุภาพร พุทธรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากการงดกินเนื้อสัตว์แล้ว ทางด้านสุขภาพยังถือเป็นการพักระบบย่อยอาหาร เนื่องจากอาหารเจจะเน้นผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรต หรือโปรตีนจากถั่วต่าง ๆ ซึ่งจัดว่าย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์มาก ระบบต่าง ๆ ในร่างกายจึงไม่ต้องทำงานหนัก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาหารเจส่วนใหญ่ มักทำจากแป้ง ใช้วิธีการทอด และมีไขมันสูง เพราะฉะนั้น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการกินอาหารเจ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือโรคหัวใจ ควรต้องให้ความสำคัญ กับการเลือกกินอาหารเจเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ เพราะอาจส่งผลต่อ การควบคุมระดับน้ำตาล หรือคอเลสเตอรอลในเลือด และระดับความดันโลหิตไม่ได้ โดยต้องระวังอาหารประเภททอด หรือใช้น้ำมัน หรือเกลือเป็นส่วนประกอบ ส่วนผลไม้ควรเลือกกินในปริมาณที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังต้อง เฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วง โรคบิด จากการประกอบอาหาร ที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ หรือ ปรุงอาหารไว้นาน ไม่ได้แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้เดือดก่อน เมื่อมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน อาจมีไข้ร่วมด้วย ให้จิบน้ำ ผสมสารละลายเกลือแร่ ป้องกันการขาดน้ำ หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo