COLUMNISTS

ความรุนแรงเกินความจำเป็น

Avatar photo
1196

การสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อช่วงค่ำวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วถึงเหตุผลและความจำเป็นในการสลายการชุมนุม ซึ่งมีทั้งผู้สนับสนุนและก่นด่าการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

การสลายการชุมนุมในครั้ง ถือว่ามีความสูญเสียมาก โดยจากรายงานล่าสุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุมไม่ถึง 10 ราย ที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการชุมนุมทางการเมืองในครั้งก่อน ๆ แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร (ซึ่งขณะนี้ประกาศยกเลิกไปแล้ว) เป็นไปโดยปราศจากอาวุธและไม่ได้มุ่งสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นเหมือนการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อันที่จริง การชุมนุมขับไล่รัฐบาลทุกครั้ง ผู้ชุมนุมมักจะอ้างเหตุผลการชุมนุมด้วยสันติวิธีและเป็นไปโดยปราศจากอาวุธ แต่ผลที่สุดเมื่อเกิดการปะทะกันจริง ๆ มักจะเกิดความสูญเสียทุกครั้งไป ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในการเมืองไทย โดยความสูญเสียจำนวนมากมักจะเกิดกับกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีความพร้อมในเรื่องของเครื่องมือและอาวุธ อีกทั้งกำลังคนที่ฝึกมาอย่างดี เริ่มปฏิบัติการปราบปรามการชุมนุม

หากติดตามการชุมนุมตั้งแต่ต้น แม้ประเด็นการเรียกร้องจะดูรับไม่ได้สำหรับผู้คนจำนวนมาก แต่ในบางประเด็นเป็นเรื่องที่น่ารับฟัง ซึ่งไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม แต่นั่นเป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นในฐานะคนไทยที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองถือเป็นเรื่องปกติในสังคมที่ประกาศตัวว่ามีความเป็นประชาธิปไตย และการเรียกร้องที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก เป็นเรื่องที่สังคมควรรับฟังและร่วมกันหาทางออก

แต่ประเด็นปัญหาที่อาจทำให้สถานการณ์บานปลายและนำไปสู่ความสูญเสียเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่สถานการณ์การชุมนุมไม่มีสัญญาณใด ๆ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง และวิธีการของเจ้าหน้าที่ก็เหมือนกับการสลายการชุมนุมในอดีตที่เรียกว่า “จากเบาไปหนัก” และเป็นวิธีการที่ไม่เคยประสบความสำเร็จที่จะไม่ให้เกิดความรุนแรงตามมา

ยิ่งกว่านั้น ภายหลังการสลายการชุมนุมทุกครั้ง สิ่งที่ตามมาคือความโกรธแค้นของอีกฝ่ายกลับจะยิ่งมีมากขึ้น แม้เจ้าหน้าที่อ้างเหตุผลว่าต้องการรักษาความสงบเรียบร้อย และอ้างว่าต้องการรักษากฎหมาย แต่นั่นก็เป็นตรรกะปกติของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ตรรกะที่ใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะเมื่อเขาพากันต่อต้านรัฐ จะให้พวกเขาเคารพกฎหมายได้อย่างไร

ดังนั้น ทางออกในเวลานี้เพื่อหลีกเลี่ยงกับสถานการณ์รุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ต้องเปิดทางเพื่อนำไปสู่การ “พูดคุย” หรือ มักเรียกว่า “การเจรจา” แต่หากรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ยังคิดว่าการชุมนุมเป็นพวก “เด็ก” และ มีคน “ปลุกปั่น” ก็เท่ากับปิดทางการพูดคุยตั้งแต่ต้น ผลที่ออกมาก็อย่างที่เห็นเมื่อตำรวจเคลื่อนพลเข้าสลายการชุมนุม และหากยังคงใช้วิธีนี้ต่อไป สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ทั้งที่ยังมีทางออก และ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ด้วยการสลายกลุ่มผู้ชุมและจับกุม