Politics

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จี้รัฐหยุดความรุนแรง เสนอ ‘5 ทางออก’ ประเทศไทย

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เรียกร้อง 5 ข้อ หาทางออกประเทศ ชี้รัฐทำเกินเหตุ เร่งแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการของรัฐสภา วอนทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หรือ กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ออกแถลงการณ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง เหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 โดยระบุ ว่า

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ

ตามที่รัฐบาลได้อาศัยอำนาจ ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง ในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร และ ข้อกำหนดตามประกาศดังกล่าว เข้าสลายการชุมนุม ของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 16 ต.ค. บริเวณสี่แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ นั้น

กสม. มีความกังวล และห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ต่อสถานการณ์ การชุมนุมทางการเมือง และ การแสดงความคิดเห็น ที่แตกต่างกัน ซึ่งมีความอ่อนไหว และ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง ในสังคมไทย

แม้ว่าการชุมนุม ของกลุ่มคณะราษฎร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม เป็นการชุมนุม ที่ต้องห้าม ตามข้อกำหนด ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ

อย่างไรก็ตาม กสม. เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าว ยังไม่ปรากฏลักษณะ ที่แสดงให้เห็นถึง การใช้ความรุนแรง จนเป็นเหตุถึงขั้นที่ รัฐบาลต้องตัดสินใจ ใช้มาตรการในการสลายการชุมนุม จึงเห็นว่าเป็นการกระทำ ที่เกินสมควรแก่เหตุ

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องคำนึงถึง สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางประการ ที่ไม่สามารถละเมิดได้ (non-derogable) ของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการปฏิบัติ ต่อเด็กและเยาวชน

กสม.

กสม. จึงขอเรียกร้อง ให้ทุกฝ่ายพิจารณา ดังนี้

1. รัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ควรใช้มาตรการที่รุนแรง ในการสลายการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งได้รับการรับรอง ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ กติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมือง และ สิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี รวมทั้งใช้แนวทางสันติวิธี ในการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหา

2. รัฐบาลไม่พึงใช้ความรุนแรง ต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่เข้าร่วมชุมนุม และต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของเด็ก ในการแสดงความคิดเห็น ตลอดจนไม่กระทำการใด ที่จะมีผลกระทบต่อสวัสดิภาพ พัฒนาการ และความปลอดภัย ทางร่างกายและจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการรับรองไว้ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child – CRC)

3. รัฐบาล และ ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรใช้กระบวนการของรัฐสภา ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน อย่างจริงจัง และให้หลักประกันว่า ข้อเรียกร้องของ ผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม จะได้รับการพิจารณา เพื่อนำไปสู่ การยุติข้อพิพาทโดยเร็ว

4. รัฐบาลควรเยียวยาความเสียหาย ที่เกิดจากปฏิบัติการ การสลายการชุมนุม ทั้งผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ ที่ได้รับบาดเจ็บ จากการถูกสั่งให้ปฏิบัติการ รวมทั้งดูแลให้ผู้เข้าร่วมการชุมนุม ที่ถูกควบคุมตัว จากการชุมนุมโดยสงบ ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ในกระบวนการยุติธรรม

5. การใช้สิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็น และ การแสดงออก ทุกฝ่ายควรเคารพสิทธิมนุษยชน ของบุคคลอื่น หลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำ หรือ การสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่สร้างความขัดแย้ง ความเกลียดชัง ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง และ ดูหมิ่นเหยียดหยาม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของผู้อื่น

ทั้งนี้ กสม. ขอให้ทุกฝ่าย ได้ใช้ความอดทนอดกลั้น และ ร่วมกันแสวงหาทางออก อย่างสันติ เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo