CEO INSIGHT

‘วู้ดดี้’เปิดมุมคิดสื่อยุคดิจิทัล ‘เมื่อถึงทางตัน…ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่’

เป็นหนึ่งใน “คอนเทนท์ ครีเอเตอร์” ของวงการโทรทัศน์ไทยและผู้ทรงอิทธิพลทางโซเชียล มีเดีย แม้ทำงานในอุตสาหกรรมสื่อมากว่า 20 ปี  แต่เมื่อระบบนิเวศน์สื่อเปลี่ยน!! คนสื่อก็ต้องปรับตัว

วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา
วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา

“อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลงและพร้อมรับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ” เป็นสิ่งที่  วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา ซีอีโอ บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด ผู้ผลิตคอนเทนท์และวางแผนสื่อ ใช้เป็นแนวทางในการทำงานในวงการสื่อ ยืนยันความคิดดังกล่าวเมื่อเขาตัดสินใจยกเลิกผลิตรายการทีวี “วู้ดดี้ เกิดมาคุย” และ “วู้ดดี้ ตื่นมาคุย” ในปี 2560 จากนั้นเบนเข็มสู่การผลิตสื่อออนไลน์ เต็มตัว

วู้ดดี้ บอกว่าหากต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็ต้องเริ่มจากมุมมองการเปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ เพราะหากตัวเราถามคำถามเดิมๆ ก็มั่นใจได้เลยว่าจะได้  “คำตอบ” แบบเดิม ดังนั้นหากต้องการมุมมองหรือผลลัพธ์ใหม่ๆ ก็ต้องเริ่มต้นจากมุมคิดในการตั้งคำถามแบบใหม่

ตัวอย่างเรื่องจากเรื่อง “คำถาม” หากทักทายกันว่า How are you? ก็มักจะได้คำตอบเดิมๆ คือ “สบายดี หรือ ฉันโอเค” แต่หากตั้งคำถามใหม่เป็น How do you feel?  เมื่อเริ่มถามว่าคุณรู้สึกอย่างไรกับพนักงาน พาร์ทเนอร์ หรือผู้ชม เชื่อว่าจะได้คำตอบที่หลากหลายมากกว่า “โอเค” หรือ “ไม่โอเค”  เพราะมิติของคำตอบเริ่มกว้างขึ้น  เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า “การตั้งคำถามเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในยุคนี้”

วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา
ภาพเฟซบุ๊ก woodytalkshow

ที่ผ่านมาเขาเข้าใจมาตลอดว่า “ไอคิว” และ “อีคิว” เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่จากการเรียนรู้ในช่วง 1-2 ปีนี้  มองว่าไอคิวและอีคิวเป็นเรื่องที่ล้าหลัง เพราะส่งที่สำคัญกว่าคือ AQ (Adaptability Quotient) เป็นสิ่งที่เขาใช้เป็นหลักการทำงานและการดำเนินชีวิต ทั้งการการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่จะทำให้สามารถ “ก้าวต่อไปได้หรือไม่” อยูที่การปรับตัว

อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นเรียนรู้ การใช้สื่อออนไลน์ facebook live  ถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านมุมคิดการสร้างสรรค์คอนเทนท์ผ่านโลกออนไลน์ของ “วู้ดดี้”

วู้ดดี้ เล่าว่าเขาเริ่มใช้ปุ่มไลฟ์ครั้งแรก ขณะตัดผม ที่พบว่ามีผู้ติดตามชม 5 หมื่นคน และมีคอมเม้นท์เข้ามาอย่างหลากหลาย  นับจากนั้นจึงมองว่า “โซเชียล มีเดีย” เป็นสื่อที่น่าสนใจ!!

พร้อมตั้งคำถามกับทีมงานว่า “เป็นไปได้หรือไม่ ที่เฟซบุ๊ก ไลฟ์ จะเข้ามาเทกโอเวอร์ทีวี”  จากนั้นทีมงานจึงมุ่งหน้าสู่การสร้างสรรค์คอนเทนท์ออนไลน์เต็มตัว โดยไม่ได้ยึดโมเดลการทำธุรกิจและการหารายได้แบบเดิมๆ เพราะ “บิซิเนส โมเดล” ที่มีอยู่ ก็เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน

วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา
ภาพเฟซบุ๊ก woodytalkshow

อีกสิ่งที่ “วูดดี้” ค้นพบในการทำงานและการใช้ชีวิตของแต่ละคน คือจะมี “ทฤษฎี” เกิดขึ้นจำนวนมาก

ประสบการณ์จากการศึกษาธรรมะกับ “องค์ดาไลลามะ” เขาตั้งคำถามว่า “ท่านนอนกี่โมง”  คำตอบที่ได้คือ  19.00 น. ด้วยเหตุผลว่า “พระอาทิตย์ตกดินแล้วและไม่มีกิจกรรมใดๆ ให้ทำอีก”

ขณะที่เวลา 19.00 น. ของคนส่วนใหญ่ยังใช้ชีวิตปกติและมักเข้าใจว่าเวลาเข้านอน คือ  22.00 น. ซึ่งที่จริงไม่มีกฎใดบอกว่าคนเราต้องนอน 4 ทุ่ม เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น  คำตอบที่ได้จาก องค์ดาไลลามะ เช่นกันบอกว่า เวลาที่รับประทานอาหาร คือ เมื่อรู้สึก “หิว”  เห็นได้ว่า “แค่เรื่องการกินคนเรายังเข้าใจแตกต่างกันมาตลอดชีวิต”

การเปิดรับเรื่องราวใหม่ๆ  เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น และแตกต่างจากทฤษฎีเดิมๆ  ก็เพราะโลกเรียนรู้ Unlearn & Relearn ตลอดเวลา การทำงานของทีม วู้ดดี้ เวิลด์ วันนี้ ได้รื้อทฤษฎีเก่าทิ้งหมด เพื่อเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

“การเรียนรู้ใหม่เป็นการทำงานอย่างจริงจัง เพื่อเข้าไปสู่หัวใจของคนที่ดูคอนเทนท์ เพราะผู้ชมหรือ ผู้บริโภควันนี้ อินไซต์แต่ละคนไม่เหมือนกัน”

“วู้ดดี้ เวิลด์” ผลิตคอนเทนท์ “ทีวี” มาตลอด แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งเริ่ม “ตัน”

จากชีวิตการทำงานที่ตื่นมาตอนเช้า สัมภาษณ์แขกรับเชิญ ถามคำถามแบบเดิมทุกวัน วนเวียนแบบนี้ทุกวัน จึงเกิดคำถามว่า “หากมีช่องทางให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนท์ เพื่อได้มุมมองความคิดที่หลากหลายมากกว่าคำถามแบบเดิมๆ  น่าจะเป็นสิ่งที่ดี และ “ออนไลน์ก็คือคำตอบ”

ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ว่า “หากเราไม่ทิ้งสิ่งเก่า (ทีวี) ที่ทำอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะพาทีมงานมุ่งหน้าสู่สื่อดิจิทัลเต็มตัว และเป็นปัญหาของคนทำสื่อปัจจุบันที่เดินหน้าไปออนไลน์ได้ไม่สุดทาง”

เช่นเดียวกับบางแคมเปญการตลาดเห็นได้ชัดว่าทำไม่ถึงที่สุด  เพราะยังติดยึดกับสื่อเดิม แต่อีกขาก็ต้องการก้าวสู่โลกดิจิทัล แต่เป็นสิ่งที่ผู้ชมรู้สึกได้ว่าไปไม่สุด!! และไม่อินกับแคมเปญที่นำเสนอ  “วันนี้เราอยู่ในยุุคที่ผู้ชมและผู้บริโภคต้องการข้อเท็จจริงและของใหม่”

“วันนี้ คนรุ่นใหม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอะไรในชีวิต และมีมุมมองต้องการเปลี่ยนโลก หากแบรนด์มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำให้โลกดีขึ้นอย่างไร ผู้บริโภคยุคใหม่จะเข้ามาหาแบรนด์ๆ นั้น  “วู้ดดี้ เวิลด์” จึงประกาศเป้าหมายในการผลิตคอนเทนท์ ที่ทำให้เกิด Transformation กับผู้ชมในทุกด้าน

วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา
วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา

แนวทางการทำงานมีกลยุทธ์หลัก คือ  Marketing & Innovation เพราะค้นพบว่าท้ายที่สุดของการทำงานจะมุ่งไป 2 เรื่องดังกล่าว  เพราะการทำงานต้องดูว่าเป็นสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายชื่นชอบหรือไม่  แคมเปญต่างๆ ที่เสนอให้ผู้บริโภค สร้างความสนใจได้หรือไม่ โปรโมชั่นโดนใจลูกค้าหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่ “มาร์เก็ตติ้ง”

“เราอยู่ในยุคที่ผู้บริโภคต้องการการตลาดที่ไปให้สุดทางแต่ไม่หลุดกรอบ  เป็นยุคที่คนต้องการการตลาดที่หวือหวา ว้าว!! และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หากยังทำการตลาดแบบเดิมๆ ก็คงไม่ได้รับความสนใจ”

ดังนั้นการสร้างสรรค์คอนเทนท์ต้องน่าดึงดูดใจและเรียกความสนใจได้ตลอดเวลา ความล้มเหลวของการทำคอนเทนท์ที่ไม่มีคนใจดู เพราะไม่โฟกัสการตลาดที่ตรงใจผู้บริโภค

การทำงานในยุคนี้ ไม่มีคำว่า Year Plan อีกต่อไปเพราะทั้งลูกค้าและผู้บริโภคมีแต่คำว่า Now  เพราะระหว่างแบรนด์หนึ่งทำแคมเปญและ Year Plan จะมีแบรนด์อื่นที่เปิดตัวแคมเปญและแผนการตลาดใหม่อยู่ตลอดเวลาและ “ทำทันที” โดยไม่รอแผนการตลาดแบบรายปี  เป็นการทำงานแบบ disrupt ตัวเอง  เพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้

เช่นเดียวกับ Innovation เป็นอีกสิ่งที่มีความสำคัญ  เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเลือกระหว่างการเป็น Leader หรือ Pioneer  แต่หากยังทำงานแบบเดิมก็คงต้องอยู่ในฐานะ “ผู้ตาม”

การ disrupt และการเปลี่ยนแปลง คือต้องคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่และทำงานแบบ  “ทำทันที” เพราะโลกยุคนี้ไม่มีใครรอใคร!!

ปัจจุบันธุรกิจของ “วู้ดดี้ เวิลด์” ให้บริการ 4 บิซิเนส ยูนิต คือ การวางแผนสื่อ, คอนเทนท์ แมเนจเม้นท์, อีเวนท์ และธุรกิจสื่อ  โดยรายได้หลัก 50%  มาจากอีเวนท์  3 งานหลัก SOS มิวสิคเฟสติวัล , Fit Fest เฮลท์แอนด์ฟิตเนส  และ The Bangkok Countdown

 

วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา
วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา

 “วู้ดดี้” ให้มุมมอง “เคล็ดลับการอยู่รอดและประสบความสำเร็จในยุคดิจิทัล ผ่านเวทีสัมมนา MediaCom BLINK_Live Thailand บอกเล่าเกี่ยวกับเทรนด์สื่อดิจิทัลและการสื่อสารการตลาด โดยบริษัท มีเดีย คอม (ประเทศไทย)

Avatar photo