Business

คาดสัปดาห์หน้าหุ้นลงต่อ-บาทอ่อน จากสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ตลาดหุ้น ในสัปดาห์หน้าไร้ปัจจัยหนุน คาดแกว่งตัวลง จากสถานการณ์การเมือง แนวรับสำคัญที่ 1,200 จุด ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่า เคลื่อนไหวที่ 31.00-31.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่าในสัปดาห์ถัดไป (19-23 ต.ค.)  ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,220 และ 1,200 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,245 และ 1,255 จุด ตามลำดับ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นการเมือง รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 3/63 ของบจ. ของไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด-19 ประเด็นการเมืองและการดีเบตของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และประเด็น BREXIT

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้านใหม่ ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. และดัชนี PMI Composite เดือนต.ค. (เบื้องต้น) ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/63 ของจีน และดัชนี PMI Composite เดือนต.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น

หุ้นไทย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นไทยปรับตัวลงจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,233.68 จุด ลดลง 2.64% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 49,287.72 ล้านบาท ลดลง 3.60% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 2.83% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 313.98 จุด

หุ้นไทยขยับขึ้นเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในต่างประเทศ อาทิ สถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมารุนแรงอีกครั้ง การระงับการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังไร้ข้อสรุป การเจรจาข้อตกลง Brexit ไม่คืบหน้า

ขณะที่ หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวลงมากสุดในสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้าง

สำหรับค่าเงินบาทในสัปดาห์ถัดไป (19-23 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ข้อมูลการส่งออกของไทยเดือนก.ย. การดีเบตรอบสุดท้ายของคู่ชิงประธานาธิบดีนายโดนัลด์ ทรัมป์ และนายโจ ไบเดน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเด็นข้อตกลง BREXIT

ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. การเริ่มสร้างบ้าน ยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ย. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 ยอดค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือนก.ย.  

ค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าลง โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆ และเงินหยวน หลังธนาคารกลางจีนยกเลิกการกันสำรองของสถาบันการเงินเมื่อทำธุรกรรมฟอร์เวิร์ดสกุลเงินต่างประเทศสำหรับลูกค้า (จากเดิมที่ต้องกันสำรองที่ 20%)

นอกจากนี้เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากสถานะขายสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ดีเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลงในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามปัจจัยทางการเมืองในประเทศ การเจรจามาตรการเยียวยาโควิด-19 ของสหรัฐฯ และสถานการณ์ในช่วงโค้งสุดท้ายใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ (16 ต.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.16 เทียบกับระดับ 31.07 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (9 ต.ค.)

Avatar photo