General

ทำไมต้องมีสี!? เปิดที่มาตำรวจใช้ ‘น้ำสีฟ้า’ สลายชุมนุม

จากกรณีที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมบริเวณแยกเฉลิมเผ่า ด้วยการใช้น้ำสีฟ้าฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุมนั้น  ทำให้หลายคนเกิดความสงสัยว่า ทำไม่ต้องใช้น้ำที่มีสี และสีที่นำมาใส่ในน้ำนั้น มีส่วนผสมของอะไร จึงทำให้คนที่โดนบางรายเกิดอาการแสบ 

เฟซบุ๊กเพจ “เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว” เคยอธิบายถึงที่มาที่ไป ของน้ำสีฟ้านี้ไว้ เมื่อครั้งเกิดการชุมนุมที่ฮ่องกง และตำรวจปราบจลาจลก็ได้ใช้น้ำสีฟ้า ฉีดสลายการชุมนุมเช่นกัน โดยระบุว่า

blue

สีย้อมสีน้ำเงินละลายน้ำ แล้วฉีดใส่ผู้ชุมนุมประท้วง เพื่อเป็นการยืนยันตัวตนของผู้ชุมนุมได้ แบบที่เรียกว่าเป็นหลักฐานติดตัวอย่างน้อย 3-7 วันได้เลย

สีที่ละลายน้ำที่เป็นสีน้ำเงิน (Blue)  แต่คราบสีที่ติดบนผิวหนัง ที่เป็นสีฟ้าอมเขียว (Greenish blue) บนร่างกายของผู้ชุมนุมนั้น คาดว่าสีที่ว่านั้นน่าจะคือ “เมธิลลีนบลู” (Methylene Blue) หรือไม่ก็สีในกลุ่มของ Azure A, B, C หรืออาจจะเป็นสีของ “Thionine” (Lauth’s violet) ก็ได้

สีทั้งหมดในซีรีส์นี้ต่างก็เป็นสีย้อม ที่มีโครงสร้างส่วนให้สี (Chromophore)  เป็น “ไธอะซีน” (Thiazines) ที่มีประจุบวก (cationic dyes) ที่สามารถติดบนวัสดุโปรตีน (Protein material) ทั้งผิวหนังคน เชื้อแบคทีเรีย รวมไปถึงเส้นใยไหม และขนสัตว์ได้ดี แม้ที่อุณหภูมิห้อง

แล้วสีในกลุ่มนี้จะขัดไม่ออกเลยหรือ

สีกลุ่มนี้มีสภาพประจุบวกที่แรงมากๆ สามารถติดบนวัสดุที่มีประจุลบ ทั้งๆ ที่มีคราบไขมัน รวมไปถึงเกิดพันธะไอออนิกกับหมู่ “คาร์บอกซิเลต” (Carboxylate : -COO⁻) ของโปรตีนได้ดีมาก จึงทำให้การชำระล้าง ด้วยสารซักล้างธรรมดานั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

เว้นแต่ว่าจะขัดคราบขี้ไคล หรือหนังกำพร้าออกจนหมด ซึ่งก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย (ถ้าใครเคยทำ Gram staining หรือ biological staining ด้วยสีเหล่านี้ จะซาบซึ้งถึงความยากลำบากในการขัดออกมากๆเลยนะครับ)

แม้ว่าสีเหล่านี้จะสามารถถูกรีดักชั่น (Reduction) ด้วยกลูโคส ในสภาวะเบสแก่ ซึ่งจะทำให้สีจางหายไปได้ แต่เมื่อทิ้งไว้สักพักในบรรยากาศที่มีออกซิเจนนั้น สีก็จะกลับกลายมายิ้มโชว์ความฟ้าอย่างชัดเจนอยู่ดี (ลอง search keyword “Blue bottle experiment” ดูนะครับ)

และสีกลุ่มนี้จะทนต่อสารฟอกขาวออกซิไดซ์ (oxidative bleaching agents) เช่น สารฟอกขาวคลอรีน และสารฟอกขาวเปอร์ออกไซด์ได้ดีมากๆ เลยนะครับ คือ ได้แต่รอให้เวลาผ่านไป จนเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังนั่นแหละครับ ท่านผู้ชม!!

574716

หลายๆคนก็คงสงสัยต่อว่า อ้าว แล้วสีกลุ่มนี้เมื่อรั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมจะทำให้เกิดมลภาวะหรือไม่

สีในกลุ่มนี้มีความคงทนต่อแสง (Light fastness) ที่ต่ำมากๆ เรียกว่าเพียงแค่ 1 เดือนเมื่อเจอแดดค่อนข้างจัดๆ  สีก็หายไปเยอะมาก (จึงไม่นิยมนำมาทำเป็นสีย้อมผ้า เว้นแต่จะนำมาย้อมบนเส้นใยอะคริลิกที่จะอยู่นานสุดนะครับ) และยิ่งในสภาวะที่ละลายน้ำนั้น สีจะสลายตัวได้เร็วมากๆ และสามารถถูกดูดซับ ด้วยวัสดุดูดซับ (absorbent) ได้ง่ายมากๆ ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม สีในกลุ่มนี้จะสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลายชนิดมากๆ ก็อาจจะทำให้สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในท้องถิ่นธรรมชาตินั้นเปลี่ยนแปลงไปได้นะครับ และด้วยสีในกลุ่มนี้มีสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ จึงนิยมใช้ในการรักษาปลาจาก “โรคที่เกิดจากพยาธิ “อิ๊ค” (Ichthyopthirius sp.)” ได้ดีเลยเชียว!!

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo