Politics

มั่นใจเอาอยู่! สธ.จ่อชงลดกักตัวนักท่องเที่ยวประเทศเสี่ยงต่ำแค่ 10 วัน

สธ.จ่อชง “ศบค.ชุดเล็ก” ไฟเขียวลดวันกักตัวนักท่องเที่ยวประเทศเสี่ยงต่ำเหลือ 10 วันจาก 14 วัน พร้อมประเมินผล 1 เดือน มั่นใจเอาอยู่!

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือ สธ. กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า หลังจากพบคนขับรถเมียนมาติดโควิด 3 ราย ทางการไทยมีการตรวจเชิงรุก คนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่แม่สอด จ.ตาก โดยตรวจทั้งหมด 4,680 ราย ผลออกแล้ว 2,280 เป็นลบ ไม่ติดเชื้อ ส่วนที่เหลือ ก็เชื่อว่า ทั้งหมดจะเป็นลบเช่นกัน เพราะถ้าพบผลเป็นบวก จะต้องมีรายงานออกมาด้วยวาจาก่อน ส่วนถ้าผลลบจะต้องรายงานเป็นเอกสารเลยช้า

อย่างไรก็ตาม ย้ำคนไทยต้องช่วยกันควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยต้องไม่ตก ขอให้สวมหน้ากากอนามัย 100% เมื่อไปที่สาธารณะ

สธ.

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ. กองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายประเทศที่มีการปรับระยะเวลาการกักตัวผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ น้อยกว่า 14 วัน บนพื้นฐานข้อมูลวิชาการ โดยมีเงื่อนไขพิเศษประกอบ เช่น จำกัดประเทศที่เข้ามา มีผลตรวจ PCR ไม่พบเชื้อ เช่น สเปน สหรัฐอเมริกา สวีเดน มัลดีฟส์ บลาซิล สหราชอาณาจักร ลักเซมเบิร์ก แอฟริกาใต้ และโปรตุเกส

ทั้งนี้ ประเทศที่ลดเวลากักตัวมาอยู่ที่ 10 วัน ได้แก่ ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์  สโลวีเนีย และลัตเวีย ส่วนประเทศที่ลดการกักตัวเหลือ 7 วันคือ เบลเยียม ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศที่มีการกักตัวเพียง 10 วัน เมื่อมีการติดตามผลก็ไม่พบว่า วันที่ 11, 12, 13, 14 จะไปสร้างปัญหาเพิ่มการติดเชื้อแต่อย่างใด

สำหรับประเทศไทยขณะนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ นักวิชาการร่วมกันศึกษาข้อมูลก็พบว่า การลดเวลากักตัว 14 วันมาเหลือ 10 วันนั้น ไม่มีความต่างกัน อาจจะมีความเสี่ยงบ้างแต่ไม่มาก และอยู่ในศักยภาพในการควบคุมป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้ โดยเลือกประเทศที่ไม่มีความเสี่ยงเพื่อนำร่องก่อน เป็นเวลา 1 เดือน พร้อมออกมาตรการเสริม

สธ.

“โดยมีการติดตามผู้ที่เข้าสู่การกักกันเมื่อครบ 10 วัน ต้องลงแอพพลิเคชั่นติดตามตัว ดูว่าคนเหล่านี้มีอาการป่วยหรือไม่ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นจะต้องดูว่ามีการเชื่อมโยงกับคนที่ออกจากสถานที่กักกัน 10 วันหรือไม่ โดยจะมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะเวลา 1 เดือน ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอ ศบค.ชุดเล็กในสัปดาห์หน้า ก่อนเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ต่อไป คาดว่าไม่เกินเดือนนี้” นพ.โสภณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานที่กักกัน 14 วัน นั้นพบว่า มีหลายประเทศที่ตรวจไม่พบการติดเชื้อ หรือ พบน้อย อาทิ นิวซีแลนด์ เข้ามา 800 กว่าคน ไม่พบการติดเชื้อเลย จีน เข้ามา 2 พันกว่าคน พบเชื้อ 1 คน เป็นต้น นับว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมไปถึงออสเตรเลีย ฮ่องกง ด้วย” นพ.โสภณ กล่าว

เมื่อถามว่า นอกจากลดวันกักตัวเหลือ 10 วันแล้ว มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังใช้มาตรการกักตัว 14 วัน ส่วนมาตรการลดลงมาเหลือ 10 วันนั้นเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากข้อมูลเชิงวิชาการและมีการปรึกษาหารือกับคณะวิชาการหลายคณะ ถือว่า การลดวันกักตัวเหลือ 10 วันนั้น มีความเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม คือการตรวจทางห้องปฏิบัติการมากในวันที่ 1 และวันที่ 10 และมีการตรวจด้วย 2 วิธีคือ ทั้งแยงจมูก และตรวจจากน้ำลาย รวมถึงการติดตามตัวซึ่งจะต้องทำมากขึ้นควบคู่กัน ซึ่งจากการประเมินคิดว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดี

ส่วนจะสามารถลดลงมาเหลือ 7 วันหรือมากกว่านี้ได้หรือไม่นั้น มีหลายปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง เช่น หากประเทศต้นทางมีอัตราการติดเชื้อต่ำ มีความปลอดภัยเทียบเท่าไทย เช่น จีน นิวซีแลนด์ ถือว่าความเสี่ยงจะต่ำ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะลดกักตัวเหลือ 7 วัน

ส่วนประเทศที่มีความเสี่ยงสูงหากจะลดเหลือ 7 วันจริงๆ จะต้องมีมาตรการอื่นมาเสริม เช่น ต้องตรวจห้องบริการมาก การติดตามตัวที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการทดสอบตรวจสอบยืนยัน ซึ่งเรื่องการลดวันกักตัวมาที่ 7 วันนั้น ต้องพิจารณาอีกครั้งหลังประเมินแล้วว่ามาตรการลดการกักตัวมาอยู่ที่ 10 วันได้ผลดีก่อน ซึ่งถ้าลดวันกักตัวมาที่ 10 วันผมค่อนข้างมั่นใจ ยิ่งเป็นประเทศเสี่ยงต่ำยิ่งมั่นใจ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo