Politics

‘วิษณุ’ ลั่นรัฐบาลจะประกาศ ‘เคอร์ฟิว’ เมื่อใดก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่คิด!

“วิษณุ” ชี้ “นายกรัฐมนตรี” พร้อมเลิกใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” หากสถานการณ์เบาลง รับรัฐบาลจะประกาศ ‘เคอร์ฟิว’ เมื่อใดก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่คิด เผยตำรวจประชุมและประเมินสถานการณ์การชุมนุมทุกวัน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงการบังคับใข้กฎหมายตามพ.ร.ก.บริหารราชการสในสถานการณ์ฉุกเฉินว่ามี 2 กรณี ตามมาตรา 5 ซึ่งวันนี้ยังใช้อยู่ทั่วราชอาณาจักรในสถานการณ์โควิด และ 2 การประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ขณะนี้ประกาศใช้เฉพาะกรุงเทพมหานคร โดยเบื้องต้นมีกรอบเวลา 30 วันถึงวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนนี้

วิษณุ161011

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี สามารถยกเลิกได้ทันทีเมื่อเห็นสถานการณ์เบาบางลง โดยไม่ต้องเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนเคอร์ฟิวจะประกาศเมื่อใดก็ได้ แต่เงื่อนไขที่จะประกาศวันนี้ยังไม่มี ยังไม่มีใครคิดและยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ในเวลานี้ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติประชุมและประเมินสถานการณ์การชุมนุมทุกวันอยู่แล้ว

ส่วนกรณีพรรครวมฝ่ายค้านเรียกร้องให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยวิสามัญเพื่อหาทางออกเรื่องการชุมนุม นายวิษณุ กล่าวว่า เหลือเวลาอีกสองสัปดาห์จะเปิดสมัยประชุมสามัญแล้ว หากออกพระราชกฤษฎีกาเสนอขึ้นไปจะเปิดสภาฯในวันที่ 1 พฤศจิกายนแล้ว ไม่มีใครทัดทานได้ และเปิดเป็นเวลา 120 วัน

นายวิษณุ ปฏิเสธให้ความเห็นกรณีข้อวิจารณ์เกี่ยวการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุมที่ค่อนข้างร้ายแรง ว่า ไม่ทราบว่าตั้งข้อกล่าวหาอะไร ส่วนที่เย็นวันนี้ (16 ต.ค.) กลุ่มคณะราษฎร 2563 นัดนัดชุมนุมที่ราชประสงค์อีก เป็นเรื่องที่เขานัด ซึ่งการที่ตำรวจประกาศ ว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมวานนี้ (13 ต.ค.) ทำผิดกฎหมาย เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

“เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะมีความร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแม้บุคคลจะมีเสรีภาพชุมนุมโดยสงบและเปิดเผยได้ตามมาตรา 44 แต่มีวรรคสองที่ระบุว่า อาจจะจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งได้ในกรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งวันนี้มีแล้ว จึงเป็นข้อจำกัดของเสรีภาพนั้น จะมาอ้างเสรีภาพเต็ม 100% ไม่ได้ เงื่อนไขจึงไปอยู่ในพระราชกำหนดนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะอำนวยความสะดวกโดยการออกคำชี้แจงว่า การชุมนุมหากทำกิจกรรมทางสังคม ทางธุรกิจหรือวัฒนธรรม เช่น งานศพ สังสรรค์รื่นเริง แม้จะเกิน 5 คน เป็น 100 เป็น 1000 คนก็สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่จะผิดเฉพาะกรณีออกข้อกำหนดนั้น ๆ มา” นายวิษณุ กล่าว

ส่วนที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีจำนวนมากจะบังคับใช้กฎหมายอย่างไร นายวิษณุ กล่าว แล้วแต่ทางตำรวจ ตนไม่ได้ให้แนวทางกับเจ้าหน้าที่ เพราะเขาชำนาญอยู่แล้ว ซึ่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ยกระดับตามมาตรา 11 คือ สามารถเข้าจับกุม ยึด ทำลาย รื้อเวที สั่งห้ามเข้าสถานที่จนถึงสั่งเนรเทศออกนอกประเทศได้ แต่วันนี้ยังไม่ได้ใช้ เพราะไม่สามารถใช้กับคนไทยได้ บางกรณีใช้กับชาวต่างชาติ ส่วนเจ้าพนักงานสามารถตัดสินใจได้เลยหรือไม่ เป็นการพิจารณาของผู้อำนวยการสถานการณ์คือผุ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo