General

‘พุทธิพงษ์’ เตือนเกรียนคีย์บอร์ด ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจอดีแน่

ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดีอีเอส เอาจริง ประสาน กสทช. หารือไอเอสพี ค่ายมือถือ เอาผิดการโพสต์ข้อความสร้างความเสียหาย ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาล ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป จึงขอ เตือนผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้ประชุมหารือ เพื่อซักซ้อมความใจ ในแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยได้ประสานกับ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เชิญผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายร่วมหารือด้วย

นอกจากนี้ ยังถือเป็นการดำเนินงาน ต่อเนื่องจากการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ และนำเข้าข้อมูลผิดกฎหมาย ลงในระบบคอมพิวเตอร์ ที่ทุกฝ่ายประสานการทำงานร่วมกันที่ผ่านมา

สำหรับข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 2 ระบุไว้ว่า “ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมตลอดทั้งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บรรดาที่มีข้อความ อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร”

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

ในส่วนบทบาทของกระทรวงฯ ที่ผ่านมา ได้มุ่งแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูล หรือ นำเข้าข้อมูลผิดกฎหมาย สู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ช่วงนี้ คือ มาตรา 14 (2), 14 (3) และมาตรา 27 ดังนี้

  • มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทําความผิด ที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
  • มาตรา 14 (2) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  • มาตรา 14 (3) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อกระทรวงฯ มีคำสั่งศาล ถึงผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังไม่ดำเนินการ นำข้อมูลที่ผิดกฎหมายออก
  • มาตรา 27 ระบุว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งตามมาตรา 18 หรือมาตรา 20 หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลตามมาตรา 21 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละห้าพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 1

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง และดำเนินการต่อข้อมูลและเว็บไซต์ไม่เหมาะสม รวมทั้งให้ความร่วมมือทำการลบ ปิดกั้นข้อมูล และเนื้อหาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ สื่อสังคมออนไลน์ ที่ผิดกฎหมาย ทั้งในส่วนของการละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

“ทุกคนสามารถแสดงสิทธิเสรีภาพ ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโพสต์ข้อความผ่านโซเชียล เว็บไซต์ต่างๆ ขอให้กระทำด้วยความระมัดระวัง”

ทั้งนี้ ต้องงดเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ บิดเบือน หรือข่าวปลอม รวมถึงต้อง ไม่ยุยง ปลุกปั่น สร้างความแตกแยกในสังคม ไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ต้องไม่ละเมิดสถาบันหลักของประเทศ เพราะการกระทำดังกล่าว จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ รวมถึง พรก.ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศใช้ล่าสุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo