COVID-19

จาก ‘ปาท่องโก๋’ ถึง ‘เครื่องบินร้านอาหาร-สเวตเตอร์’ สายการบินโลกหารายได้ใหม่ เอาตัวรอดยุคโควิด

สายการบินโลก ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ในช่วงเวลาที่การระบาดใหญ่ของ “ไวรัสโควิด-19” นั้น ทั่วโลกพากันออกมาตรการควบคุม และป้องกันอย่างเข้มงวด ในความพยายามที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ที่จนถึงขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 39 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 1 ล้านคน

หนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้กันอย่างเข้มข้น คือ “ห้ามการเดินทาง” หรือ “จำกัดการเดินทาง” ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

airlines

วิกฤติดังกล่าว ทำให้ สายการบินโลก พากันมองหาตัวเลือกใหม่ ที่จะช่วยประคองธุรกิจให้รอดพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ซึ่งดูเหมือนว่า หลายสายการบินจะไปได้สวยสำหรับทางเลือกดังกล่าว

ตัวอย่างเช่น “การบินไทย” ที่พลิกกลยุทธ์มาเปิดขาย “ปาท่องโก๋” ซึ่งความโดดเด่นของสินค้า ที่เป็นสูตรเฉพาะของครัวการบินไทย ทำให้ ปาท่องโก๋ การบินไทย ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเหนือความคาดหมาย ทำรายได้ให้กับบริษัทมากกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน และยังช่วยให้การบินไทย ขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้น

สายการบินโลก

นอกจากการบินไทยแล้ว “สิงคโปร์ แอร์ไลนส์” ก็เป็นอีกสายการบินหนึ่ง ที่หันมาใช้ “อาหาร” เป็นเครื่องมือช่วยในการพยุงกิจการ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ ได้เปิดธุรกิจใหม่ เปิดร้านอาหารขึ้นมาบนเครื่องบินจริง ที่จอดอยู่ในสนามบินชางงี ในความพยายามที่จะสร้างรายได้ขึ้นมาทดแทนกับส่วนที่หายไป เพราะมาตรการล็อกดาวน์เกือบทั่วโลก ที่ทำให้การเดินทางทางอากาศแทบไม่มีเลย

ในการทำธุรกิจใหม่ดังกล่าว สิงคโปร์ แอร์ไลนส์ เปิดให้ลูกค้าจองที่นั่งสำหรับมื้อกลางวันสุดหรูบนเครื่องบินแอร์บัส เอ380  โดยที่นั่งชั้นเฟิร์สคลาส 2 โต๊ะแรกขายหมดภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง แม้ราคาจะสูงถึง 496 ดอลลาร์ หรือประมาณ 15,260 บาท  อีกทั้งยังเปิดให้จองที่นั่ง สำหรับมื้อเย็นอีก 2 โต๊ะ โดยมีคนลงชื่อจองที่นั่ง สำหรับมื้อกลางวัน และมื้อเย็นอีกจำนวนมาก

การเปิดให้คนไปกินอาหารบนเครื่องบินในแต่ละมื้อนั้น จะเปิดให้บริการครั้งละ 3 ชั่วโมง โดยจะใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ380 ทั้งหมด 2 ลำ แต่ละลำ จะรองรับคนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะทางสังคม

นอกจากนี้ ลูกค้าจะต้องนำหนังสือเดินทางไปแสดงก่อนขึ้นเครื่อง ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ไม่ได้กินหรือดื่ม ลูกค้ายังสามารถเลือกได้ว่าจะนั่งชั้นไหน ที่นั่งชั้นประหยัดราคาเริ่มต้นที่ 39 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,200 บาท สามารถนั่งดูหนังขณะกินอาหารได้ แต่เครื่องบินจะไม่ขึ้นบิน ส่วนที่นั่งเฟิร์สคลาสสามารถเลือกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 2 แก้ว

สายการบินโลก

บริการร้านอาหารของสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ ยังครอบคลุมถึง การจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี พร้อมเครื่องใช้สำหรับโต๊ะอาหาร และชุดของใช้บนเครื่องบิน

ก่อนหน้านี้ สายการบิน “แควนตัส” ของออสเตรเลีย ก็พยายามที่จะหารายได้เข้ากระเป๋า ในช่วงเวลาวิกฤติเช่นกัน ด้วยการเปิดขาย “เที่ยวบินพิเศษ” ที่เป็นเพียงการบินชมวิว ผู้โดยสารไม่ได้ไปต่างประเทศ ไม่ได้ลงจอดที่เมืองอื่น แต่จะได้ชมวิวสวยงาม ของออสเตรเลียเป็นเวลา 7 ชั่วโมงเต็ม เป็นการบินที่มีสนามบินต้นทาง และปลายทาง เป็นจุดหมายเดียวกัน

ปกติแล้ว แควนตัสจะใช้เครื่องบินโบอิง 787 สำหรับการเดินทางระยะไกล ระหว่างประเทศ แต่ในเที่ยวบินพิเศษนี้ โบอิง 787 จะขึ้นบินจากซิดนีย์ และรักษาเพดานการบินไว้ในระดับต่ำ ตามสถานที่ชื่อดังต่าง ๆ ของออสเตรเลีย เช่น หินยักษ์อูลูรู (Uluru), เขตเอาต์แบ็ก (Outback) เกรตแบร์ริเออร์รีฟส์ (Great Barrier Reefs) และอ่าวซิดนSydney Harbour ก่อนที่จะกลับมาลงจอดในซิดนีย์อีกครั้งหนึ่ง

ตั๋วเที่ยวบินพิเศษนี้มีราคาอยู่ระหว่าง 787-3,787 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ขึ้นอยู่กับชั้นที่นั่ง โดยจำนวนที่นั่งทั้งหมด 134 ที่นั่งถูกจองอย่างรวดเร็ว ตั๋วขายหมดภายในเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น

สายการบินโลก

แควนตัสยังไม่หยุดเท่านี้ โดยล่าสุดทางสายการบิน ได้จับมือกับดีไซเนอร์ชื่อดัง ของออสเตรเลีย “มาร์ติน แกรนต์” ผลิตเสื้อผ้าคอลเลคชันหรู ออกมาจำหน่าย รวมถึง เสื้อสเวตเตอร์แคชเมียร์ราคา 425 ดอลลาร์ออสเตรเลีย เสื้อฮู้ดราคา 275 ดอลลาร์ออสเตรเลีย  และ กระเป๋าชายหาดราคา 350 ดอลลาร์ออสเตรเลีย

นอกจากแควนตัส แล้ว สายการบิน อีวีเอ แอร์ ของไต้หวัน ก็จัดเที่ยวบิน ในลักษณะคล้ายกัน โดยเครื่องบินจะขึ้นจากสนามบินกรุงไทเป  เดินทางไปบินวนรอบเกาะเชจู ของเกาหลีใต้ โดยกำหนดราคาตั๋วไว้ที่ 6,888 ดอลลาร์ไต้หวัน  ซึ่งมีรายงานว่าตั๋วขายหมดในเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo