Business

KTC สวนกระแสโควิด-19 กำไร 9 เดือนแรก 4 พันล้าน

KTC กำไรไตรมาส 3 ลดลงเล็กน้อย รวม 9 เดือน กำไรสุทธิ 4,011.37 ล้านบาท แม้ค่าใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง โดยมีฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นรวม 3.5 ล้านบัญชี ขณะที่ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลง เร่งลดต้นทุนและคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน

อ่านเพิ่มเติม :

สรุปผลการดำเนินงานของ บจ. ไตรมาสที่ 3 (F45) (ก่อนสอบทาน)

คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ ไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2563

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC กล่าวว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลง เราเริ่มเห็นความร่วมมือของผู้ประกอบการที่พร้อมจะช่วยกันฟื้นฟูประเทศในรูปแบบต่างๆ  เพื่อช่วยกันให้ประเทศไทยไปต่อ สร้างโอกาสสนับสนุนให้คนไทยสร้างอาชีพและรายได้ ทำให้สัญญาณความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายภาคประชาชนเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และเมื่อมองกลับมาที่เคทีซีในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ พอร์ตลูกหนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9% ควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงินได้ดี และมีรายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ”

KTC

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังได้รับผลกระทบในการสร้างรายได้ เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องเพดานอัตราดอกเบี้ยของ 2 ธุรกิจหลักที่ลดลง คือ ธุรกิจบัตรเครดิตลดลงที่ 2% และสินเชื่อบุคคลลดลงที่ 3% อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย

เคทีซี มีกลุ่มลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมปรับโครงสร้างหนี้กับเคทีซีประมาณ 7,800 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวม 600 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) ทำให้บริษัทฯ ต้องเร่งปรับกลยุทธ์สร้างโมเดลธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำรายได้ รวมทั้งปรับกระบวนการทำงานทั่วทั้งองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน รวมทั้ง ตัดหนี้สูญเพื่อให้พอร์ตลูกหนี้สะท้อนภาพความเป็นจริงมากขึ้น

ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS9 เคทีซีมีกำไรสุทธิ 9 เดือน 4,011 ล้านบาท และกำไรสุทธิไตรมาส 3 เท่ากับ 1,221 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม เท่ากับ 84,347 ล้านบาท (ขยายตัว 5.9%) ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,583,462 บัตร (ขยายตัว 5%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม 54,684 ล้านบาท (ขยายตัว 6.9%) อัตราเติบโตของปริมาณ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 9 เดือน อยู่ที่ -8.3% หรือมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 139,993 ล้านบาท

ขณะที่ NPL รวม ลดเหลือ 1.9% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.4% สินเชื่อบุคคล (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) 895,878 บัญชี (ลดลง 8% จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม 29,663 ล้านบาท (เติบโต 5.1%) NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.6%

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เคทีซีมีรายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ไตรมาส 3 และ 9 เดือนของปี 2563 เท่ากับ 3,498 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 10,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% ตามลำดับ

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) มีมูลค่าเท่ากับ 1,093 ล้านบาท ลดลงที่ -10.3% และ 3,245 ล้านบาท ลดลงที่ -11.6% ตามลำดับ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) เท่ากับ 31.7% ลดลงจาก 34.0% ณ ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากบริษัทฯ เน้นทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น และลดการจัดกิจกรรมการตลาดทั้งในการจัดหาบัตรใหม่และการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตร

สำหรับรายได้รวม 9 เดือนปี 2563 เท่ากับ 16,490 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยที่ -1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลที่เพิ่ม 9% และ 6% ตามลำดับ เป็นอัตราเพิ่มที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบสืบเนื่องจากโควิด-19 และการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมเท่ากับ 11,476 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน 5,223 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ) 5,095ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 1,159 ล้านบาท ตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายในการบริหารลดลง 8% จากรายการทางการค้าและกิจกรรมการตลาดที่ลดลง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ) มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แบ่งเป็นหนี้สูญ 3,734 ล้านบาท และหนี้สงสัยจะสูญ 1,361 ล้านบาท

Avatar photo