Economics

เอกชนร่วมพัฒนา 17 เมืองนำร่อง ‘สมาร์ท ซิตี้’

pra1

เร่งขับเคลื่อน Smart City 7 จังหวัดนำร่องปีนี้ เปิดทางพัฒนาเมืองตามบริบทท้องถิ่น พร้อมย้ำต้องรับฟังความเห็นชุมชน ด้านบริษัทเอกชนร่วมมือเดินหน้าพัฒนา 17 เมืองอัจฉริยะ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยในงาน “Digital Thailand Big Bang 2018” ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้เกิด “สมาร์ท ซิตี้” (Smart City) หรือ เมืองอัจฉริยะ ทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

  1. เมืองน่าอยู่ หรือการปรับปรุงเมืองเดิมให้เป็นสมาร์ท ซิตี้
  2. เมืองอัจฉริยะ
  3. เมืองที่มีลักษณะเฉพาะ ตามเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

เกณฑ์  6 ด้านเป็นสมาร์ท ซิตี้

  1. Smart Living หรือเมืองน่าอยู่
  2. Smart Mobility หรือเมืองที่ติดต่อสื่อสารและเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย
  3. Smart People หรือ พลเมืองอัจฉริยะ
  4. Smart Energy and Environment  หรือเมืองประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม
  5. Smart Economy หรือ เมืองเศรษฐกิจอัจฉริยะ
  6. Smart Governance หรือระบบบริหารจัดการภาครัฐอัจฉริยะ ซึ่งบางพื้นที่อาจไม่ครบทั้ง 6 เกณฑ์ แต่โดยพื้นฐานแล้ว Smart City  จะต้องเป็นเมืองน่าอยู่ ที่ผู้คนมีความสุข มีสภาวะแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ และมีความปลอดภัย
pra
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

ในขณะนี้ รัฐบาลได้กำหนดเมืองสมาร์ท ซิตี้ในพื้นที่ 14 พื้นที่ นำร่องใน 7 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ บริเวณ ศูนย์กลางคมนาคมขนส่งบางซื่อ  ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา

ในปี 2562 จะดำเนินการอีก 7 พื้นที่ ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก  อุบลราชธานี  อุดรธานี  สงขลา นครสวรรค์ และย่านบางรัก ในกรุงเทพฯ  ซึ่งหลักเกณฑ์คัดเลือกจะดูที่ความพร้อมของจังหวัดและการเข้ามาร่วมทำงานของภาคเอกชน

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องทำทีละเมือง แต่สามารถทำไปพร้อมกันได้ โดยต้องพูดคุยกับคนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายในรูปแบบประชารัฐ เพราะเรื่องนี้ทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยจะดำเนินการให้ครบ  77  แห่งเป็นอย่างน้อย ภายใน 5 ปี

พื้นที่นำร่องไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก จากการไปดูงานในต่างประเทศหลายแห่ง ทั้งที่ สวีเดน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และออสเตรีย  ล้วนมีจุดแข็งที่ต่างกัน และพัฒนาพื้นที่จากพื้นที่ที่อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไปสู่แหล่งเรียนรู้

“ขณะนี้ทั่วโลกต่างแข่งขัน เพื่อจะไปสู่ Smart City มีการจัดประกวดอันดับ Smart City ที่ดี 1 ใน 100 ซึ่งประเทศไทยยังไม่ติดอันดับ แต่เรากำลังดำเนินการใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนในหลายมิติ เพื่อให้เป็น Smart City  ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมแล้ว เหลือเพียงการสร้างความร่วมมือร่วมใจและความพร้อมของบุคลากรที่จะมารองรับและต่อยอดเพื่อให้เมืองเราน่าอยู่”

ภูเก็ตต้นแบบ

ด้านนายพิเชฐ ดุรงควิโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า ตอนนี้เมืองต้นแบบน่าจะเป็นที่ภูเก็ต เพราะได้เดินหน้าทำไปล่วงหน้า 3-4 ปีแล้ว เน้นการพัฒนาที่เข้ามาแก้ปัญหาของเมือง เช่น การติดตั้งจีพีเอสที่รถขนขยะ และออนไลน์เข้ามาที่จังหวัด เพื่อใช้ในการมอนิเตอร์รถขยะว่ามีต้นทาง และปลายทางที่ใด ป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ เป็นต้น

ขณะนี้ภาคเอกชนท้องถิ่นก็เห็นโอกาสรวมตัวกันตั้งบริษัทเข้ามาพัฒนาเมืองภูเก็ตแล้ว โดยมุ่งเน้นการจัดจราจรบริการนักท่องเที่ยว และแก้ปัญหารถติดไปพร้อมกัน รวมถึงกำลังพัฒนาสายรัดข้อมือให้นักท่องเที่ยวใช้ระบุตำแหน่งที่อยู่ และใช้เป็นกระเป๋าอัจฉริยะ ทำให้ไม่ต้องพกเงินสดเพื่อความปลอดภัย

smmmmm

หนุนรัฐปลดล็อกกฎ

ในงานเสวนาเรื่อง ‘กลยุทธ์การพัฒนาเมืองยุคดิจิทัล’ ภายในงาน ‘Digital Thailand Big Bang 2018’ นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้านพลังงาน จะออกมาในรูปแบบของการเปิดให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เอง และสามารถซื้อขายกันเองได้ แต่ต้องปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆก่อนจึงจะทำได้

tawa
ทวารัฐ สูตะบุตร

สำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในภาพรวมนั้น เห็นว่าจะต้องเปิดทางให้ท้องถิ่นคิดเองและทำเองตามความเหมาะสม และจะต้องค่อยๆเริ่มไม่จำเป็นต้องให้มีทั้ง 77 จังหวัด สำคัญที่สุดต้องทำให้สมาร์ท ซิตี้เป็นรูปธรรม ไม่ได้เป็นเพียงแค่การติดตั้งวงจรปิด หรือการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินเท่านั้น

“การพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ต้องให้ท้องถิ่นมีบทบาท ท้องถิ่นเองก็ต้องสร้างทีมมาทำอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันในเรื่องผังเมืองก็ต้องเข้ามาเป็นปัจจัย และจำเป็นต้องละลายสีของผังเมืองด้วย ไม่ควรกำหนดกรอบ เพราะจะเป็นการจำกัดความคิด โดยเชื่อว่าที่อยู่อาศัยกับโรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงแต่ต้องบริหารจัดการให้ดี”

ด้านนายมนต์ทวี หงส์หยก กรรมการบริหาร บริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง กล่าวว่า ที่ภูเก็ต มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการตั้งเป็นบริษัทและทำการพัฒนาเมืองภูเก็ตเน้นแก้ปัญหาต่างๆของเมือง เช่น การจราจร

อย่างไรก็ตามการพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ให้สำเร็จได้นั้น จะต้องพัฒนาแผนระดับชาติและจังหวัดให้สอดคล้องกัน และต่อเนื่อง โดยรัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุน  เพราะบางเรื่องไม่มีองค์ความรู้มากพอ

poon
ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัย และความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่าพื้นที่ใดจะทำสมาร์ท ซิตี้ จะต้องผ่านการรับฟังความเห็นของชุมชน และต้องมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเมืองเพื่อใช้ในการวางแผนป้องกันมากกว่าแก้ไขปัญหา

เอกชนร่วมพัฒนา 17 เมืองนำร่อง

ในวันเดียวกันนั้นพล.อ.อ.ประจิน ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามความร่วมมือ ว่าด้วยการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ 17 เมือง นำร่อง ได้แก่ บริษัทเชียงใหม่นครพิงค์พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทโคราช พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทกรุงเทพมหานคร พัฒนาเมืองจำกัด บริษัทขอนแก่น พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทชลบุรี พัฒนาเมืองจำกัด บริษัทพิษณุโลก พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทสุโขทัย พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทภูเก็ต พัฒนาเมืองจำกัด บริษัทระยองพัฒนาเมือง จำกัด บริษัทสงขลาพัฒนาเมือง จำกัด บริษัทสระบุรีพัฒนาเมืองจำกัด บริษัทอุดรธานีพัฒนาเมืองจำกัด บริษัทอุบลรวมใจ พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทอุบลราชธานี พัฒนาเมือง จำกัด บริษัทสมุทรสาคร พัฒนาเมือง จำกัด และเมืองพัทยา

 

 

Avatar photo