COLUMNISTS

‘กระบวนการไม่มั่ว’ ไม่ได้แปลว่าการเปลี่ยนแปลงจะสำเร็จ

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
178

ถ้าวันนี้คุณจำเป็นต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในองค์กรเพื่อความอยู่รอดและเติบโต สิ่งแรกที่คิด คงหนีไปพ้น  “กระบวนการในการเปลี่ยนแปลง”

เวลาในช่วงต้นคงหมดไปกับการประชุมเพื่อกำหนดขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม สี่ ว่าควรดำเนินการอย่างไร ถูกต้องแล้วครับ นี่คือ “ศาสตร์” ที่คุณต้องบริหารโปรเจคนี้ให้เป็นระบบ เพื่อรับประกันว่าภารกิจสำคัญจะไม่มั่ว

แต่กระบวนการที่มีความชัดเจน ไหลลื่น และไม่มั่ว ไม่ได้แปลว่า การเปลี่ยนแปลงจะประสบความสำเร็จ เพราะตัวชี้วัดความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงคือ “การเปลี่ยนพฤติกรรม” ตราบใดที่คนในองค์กรไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง แม้ขั้นตอนต่าง ๆ จะการดำเนินไปอย่างสวยหรู ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ

Change

Dr. John Kotter ปรมาจารย์ด้านภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลต้องบาลานซ์ทั้งศาสตร์และศิลป์ นั่นหมายความว่า Science = Process ต้องควบคู่ไปกับ Art = People

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงควรตระหนักว่า เมื่อเราเป็น “ผู้เปลี่ยน” เรามักมีเหตุผลของเรา และรู้สึกกับการเปลี่ยนแปลงในแง่บวก

แต่ในทางกลับกัน หากเราเป็น “ผู้ถูกเปลี่ยน” เราจะรู้สึกตรงกันข้าม ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม

คนส่วนใหญ่ไม่ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง แต่ปฏิเสธการถูกเปลี่ยนแปลง พวกเขากังวลถึงผลกระทบที่มีต่อตัวเองต่างหาก ผู้นำหลายคนกำหนดขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงไว้อย่างดี แต่ตกม้าตายเพราะขาดศิลปะในการบริหารคน

ดังนั้น เพื่อไม่ให้โปรเจคการเปลี่ยนแปลงของคุณล้มเหลว Dr. John Kotter จึงให้หลักการ 4 ข้อซึ่งถือว่าเป็นศิลปะสำหรับผู้ที่ต้องการจะมีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Four Principles of Change Leadership) เพื่อช่วยให้ภารกิจของคุณสำเร็จได้ง่ายขึ้น ดังนี้

  1. วิธีที่จะช่วยให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนได้เร็วขึ้นและเปลี่ยนอย่างยั่งยืน คือ การกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่จะเปลี่ยนจากข้างในไม่ใช่การบังคับข่มขู่ (Get away from Have to and create Want to) ผู้นำต้องช่วยให้เขาเหล่านั้นเห็นความจำเป็นและประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลง
  2. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องใส่ใจความรู้สึกของคนที่ถูกเปลี่ยน ไม่น้อยไปกว่าการให้ความสำคัญกับกระบวนการในการเปลี่ยนแปลง (Take care of both Head and Heart) ผู้นำไม่ควรพูดฝ่ายเดียว ต้องพร้อมรับฟัง และเข้าใจอารมณ์ของคนที่ต้องเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย
  3. ต้องคำนึงถึงการบริหารงาน และการบริหารคนคู่ขนานกันไป (Think about Management and Leadership) ผู้นำจงแชร์ข้อมูลที่เป็นความจริง ไม่บิดเบือน ไปพร้อมๆ กับการโน้มน้าวจูงใจ และสร้างแรงบันดาลใจในเวลาเดียวกัน
  4. ทีมนำการเปลี่ยนแปลงควรมีมุมมองที่ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม (Expand from the Select few to include perspectives of a Diverse Many) อย่าเลือกคนที่มีความคิดแบบเดียวกันมาขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แต่จงหาทีมงานที่สะท้อนมุมมองและความรู้สึกของคนที่หลากหลายในองค์กร

หากคุณอยู่ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง และกำลังจะริเริ่มเปลี่ยนแปลงองค์กรของคุณในวันพรุ่งนี้ อย่าลืมบอกตัวเองว่า กระบวนการไม่มั่วไม่ได้แปลว่าจะสำเร็จ ศาสตร์อย่างเดียวไม่พอต้องมีศิลป์ด้วยการเปลี่ยนแปลงจึงได้ผลอย่างยั่งยืน