Politics

ปลอดภัยไว้ก่อน!! วิธีป้องกันอัคคีภัยอาคารเก่า

หลังจากที่เกิดเหตุอาคารเพลิงไหม้ราชเทวี อพาร์ตเมนต์ ซอยเพชรบุรี 18  “บุษกร แสนสุข” ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)  ได้ให้คำแนะนำถึงการปรับปรุงอาคารเก่าที่เป็นอาคารสูง และสร้างก่อน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ปี พ.ศ.2535 ดังนี้

ป้องกันไฟไหม้อาคารเก่า

 

  • ลดความเสี่ยงอัคคีภัย

ต้องสำรวจสภาพระบบไฟฟ้าอาคารและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพปกติ รวมทั้งไม่เก็บวัสดุสิ่งของที่ติดไฟได้ในห้องระบบไฟฟ้า หรือในช่องท่องานระบบ ไม่สะสมวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในอาคารจำนวนมาก

  • มีระบบความปลอดภัยอัคคีภัย

มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติแจ้งเตือนเมื่อเกิดเพลิงไหม้เพื่อให้ผู้ใช้อาคารสามารถอพยพได้อย่างรวดเร็ว

  • ปิดช่องเปิดในแนวดิ่งซึ่งเป็นช่องท่องานระบบต่างๆ

จะต้องมีการปิดป้องกันไฟลาม ป้องกันควันไหลในแนวดิ่ง และแพร่กระจายไปในชั้นอื่นของอาคาร

  • มีบันไดหนีไฟที่สามารถป้องกันไฟและควันได้

เพิื่อให้ผู้ใช้อาคารอพยพออกทางบันไดนี้ได้ โดยบันไดต้องเชื่อมต่อตั้งแต่ดาดฟ้า จนถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร เป็นบันไดที่ออกได้สะดวกไม่ใช่บันไดแนวดิ่งหรือบันไดลิง

  • มีไฟแสงสว่างฉุกเฉิน และป้ายทางออกหนีไฟ ที่แสดงทางออกได้ชัดเจนเมื่อเกิดเพลิงไหม้

ป้องกันไฟไหม้อาคารเก่า

  • มีแผนผังทางหนีไฟที่ติดแสดง ในอาคาร ให้ทราบถึงตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยแล้วทางหนีไฟในแต่ละชั้น

  • มีการซ้อมแผนฉุกเฉินอัคคีภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

  • มีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายและมีแผนในการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับอาคารที่สร้างหลัง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ปี พ.ศ.2535  นั้น ควรให้ความสำคัญและตรวจสอบระบบการป้องกัน และระงับอัคคีภัย โดยในส่วนของอาคารทั่วไป และอาคารสูงนั้น สิ่งที่ต้องรู้ รวมถึง

อาคารทั่วไป

  • ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้

ควรติดตั้งในห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต แต่ถ้าสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องติดตั้งทุกชั้นในแต่ละยูนิต และอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร ต้องติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร

ป้องกันไฟไหม้อาคารเก่า

  •  ส่วนประกอบของระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้

ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชุด อุปกรณ์แจ้งเหตุมีทั้งแบบแจ้งเหตุอัตโนมัติ (Detector) และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Alarm) เพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทำงาน

ส่วนอุปกรณ์อีกตัวชุดหนึ่งคือ อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเมื่อเกิดไฟไหม้

  • การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ

ห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต ส่วนอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะอื่นๆ ต้องติดตั้งในแต่ละชั้นอย่างน้อย 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่ละเครื่องต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นง่ายสะดวกต่อการดูแลรักษา

  • ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ

ป้ายบอกตำแหน่งชั้นและทางหนีไฟพร้อมไฟฉุกเฉิน ต้องติดตั้งทุกชั้นของอาคารโดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปและอาคารอื่นๆที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร

  • ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง

อาคารสาธารณะที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่ระบบไฟฟ้าปกติขัดข้องและต้องสามารถจ่ายไฟในกรณีฉุกเฉินได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดที่มีเครื่องหมายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดินและระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้

ป้องกันไฟไหม้อาคารเก่า

  • บันไดหนีไฟ

อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีพื้นที่ดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 1 บันไดนอกเหนือจากบันไดหลัก ถ้าเป็นอาคารที่สูงตั้งแต่ 23 เมตรต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 2 บันไดที่ต่อเนื่องจากชั้นดาดฟ้าถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร

อาคารสูง

ป้องกันไฟไหม้อาคารเก่า

  • ระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติ

สามารถแจ้งเตือนภัยให้ได้ทราบอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารประเภทที่อยู่อาศัย ลักษณะการใช้อาคารจะเป็นที่พักผ่อนหลับนอน จะต้องมีอุปกรณ์ที่ทำงานได้รวดเร็ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยปลุกคนได้ในขณะหลับ

  • ทางเลือกในการอพยพหนีไฟ

ต้องมีบันไดหนีไฟอย่างน้อยสองบันได

  • มีป้ายทางหนีไฟที่บอกทางออกหนีไฟให้เห็นชัดเจน

มีไฟแสงสว่างฉุกเฉินที่ส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟไปตลอดทางกระทั่งออกนอกอาคารโดยสมรรถนะต้องส่องสว่างได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง

  • มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ

เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง(Sprinkler) ติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคาร มีระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง(Fire Pump)ที่ได้มาตรฐาน มีวาล์วและสายฉีดน้ำดับเพลิงที่สามารถลากไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร

  • มีอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้น หรือถังดับเพลิงติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร ระยะจากจุดใดๆไปถึงอุปกรณ์ไม่เกินมาตรฐาน

  • บันไดหนีไฟต้องมีระบบป้องกันควันไฟที่ได้มาตรฐาน

  • มีลิฟต์ดับเพลิง

  • มีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อจ่ายไฟให้กับระบบความปลอดภัยของอาคารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

  • มีแผนผังทางหนีไฟ และตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยติดแสดงให้เห็นชัดเจนในทุกชั้นของอาคาร

  • มีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยอัคคีภัย ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

  • มีแผนฉุกเฉินอัคคีภัย

  • มีการอบรมดับเพลิงขั้นต้น

ป้องกันไฟไหม้อาคารเก่า

มีการซ้อมอพยพหนีไฟเป็นประจำทุกปี มีการประเมินเส้นทางเข้าถึงของรถดับเพลิง ซึ่งการอบรมดับเพลิงขั้นต้นและการซ้อมอพยพหนีไฟนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้มีความมั่นใจในการระงับเหตุขั้นต้นได้ สามารถอพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น

  • ควบคุมวัสดุในอาคาร

วัสดุตกแต่งภายใน และภายนอกอาคาร ควรพิจารณาในเรื่องชนิด และปริมาณเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มเติมเข้าในอาคาร ต้องควบคุมวัสดุประเภทโฟมและพลาสติก ซึ่งติดไฟง่าย

Avatar photo