General

ข่าวดียังมี! กองทุนบัตรทอง ปี 64 คว้างบเฉียด 2 หมื่นล้าน ยกระดับ 4 บริการ

กองทุนบัตรทอง ปี 64 ได้งบเกือบ 2 หมื่นล้านบาท “อนุทิน” แย้มข่าวดี สปสช. จับมือ กทม. วางโครงสร้างระบบบริการรูปแบบใหม่  พร้อมยกระดับบริการ 4 รายการใหม่

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำหรับปี 2564 กองทุนบัตรทอง ยังคงเดินหน้าให้การดูแลประชาชน โดยรัฐบาลจัดสรรงบกองทุนบัตรทอง 194,508.78 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 177,198.99 ล้านบาท หลังหักเงินเดือนภาครัฐ 52,143.97 ล้านบาท เป็นงบเหมาจ่ายที่ส่งให้ สปสช.บริหาร 125,055.01 ล้านบาท และงบนอกเหมาจ่ายรายหัวอีก 17,309.79 ล้านบาท

กองทุนบัตรทอง

“การบริหารงบบัตรทองในแต่ละปี เน้นที่ความคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ มุ่งดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง”

สำหรับปีงบประมาณ 2564 นี้ จากการประชุมบอร์ด สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ล่าสุด ได้เห็นชอบการยกระดับบริการบัตรทอง 4 รายการ คือ

1. นำร่องเข้ารับบริการปฐมภูมิบัตรทองที่หน่วยบริการทุกแห่งในเครือข่ายบริการใน กทม. จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ย. นี้

2. ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัว นำร่องที่เขต 9 นครราชสีมาในวันที่ 1 พ.ย. นี้ และใน กทม.และปริมณฑลจะเริ่มวันที่ 1 ม.ค. 64

3. โรคมะเร็งไปรับบริการที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ที่พร้อมและร่วมให้บริการ โดยจะมีการจัดสรรทรัพยากรแต่ละหน่วยบริการเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนาน

4. ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน จะเริ่มในวันที่ 1 ม.ค. 64 สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาและปรับปรุงการบริหารจัดการกองทุนบัตรทองที่ไม่หยุดนิ่ง ตอบสนองความต้องการผู้มีสิทธิ เพื่อให้เป็นหลักประกันด้านสุขภาพแท้จริงของประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

ประชุม

ทั้งนี้ กองทุนบัตรทอง ในปีงบประมาณ 2564 นับเป็นก้าวเข้าสู่ปีที่ 19 ตลอดระยะเวลา ได้มีการเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานกองทุนอย่างต่อเนื่อง ตามสถานการณ์ต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม

โดยเฉพาะช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มีสถานการณ์ที่ทำให้กองทุนฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการในบางส่วนเพื่อให้เกิดความเหมาะสม สถานการณ์แรกคือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เริ่มพบผู้ที่ติดเชื้อในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี

กองทุนบัตรทอง เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 ทั้งการคัดกรอง การรักษา ค่ายา อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข เพื่อดูแลประชาชนทันที เมื่อมีแนวโน้มการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ ที่ผานมา ยังได้ปรับการดำเนินงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ โครงการผู้ป่วยรับยาร้านยาใกล้บ้าน โครงการส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ การสนับสนุนหน่วยบริการจัดระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth/Telemedicine) การปรับหลักเกณฑ์กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) เพื่อให้ท้องถิ่นนำงบมาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่

บัตรทอง

ส่วนกรณีคลินิกบัตรทองในเขต กทม. เบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งพบความผิดปกติของข้อมูลเบิกจ่ายที่ตรวจพบโดยระบบตรวจสอบของ สปสช. เป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะกระทบต่อผู้มีสิทธิจากความจำเป็นในการยกเลิกสัญญาการเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง

แต่ที่ผ่านมา สปสช. ได้เร่งแก้ไข จับมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีสถานพยาบาลในสังกัด เพื่อรองรับดูแลผู้ป่วยเร่งด่วนและดูแลต่อเนื่อง ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง ระหว่างนี้ได้เร่งจัดหาหน่วยบริการปฐมภูมิทดแทนเพื่อให้บริการ

“กรณีนี้แม้เป็นภาวะวิกฤติ แต่ก็เป็นโอกาสในการปฏิรูปบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม.ขณะนี้ สปสช.ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดวางโครงสร้างระบบบริการรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2564 นี้ เรียกได้ว่าพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับคน กทม.”นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายในปี 2564 ยังคงให้ความสำคัญกับผู้ให้บริการควบคู่ สนับสนุนการให้บริการของหน่วยบริการ ลดขั้นตอนต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรค เพื่อให้หน่วยบริการสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พร้อมกันนี้ ได้นำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ในระบบบริการเพิ่มขึ้น อาทิ บริการจองสิทธิฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่, การยืนยันตัวตนผู้รับบริการด้วยสมาร์ทการ์ด, การเพิ่มการเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคผ่าน “เป๋าตังสุขภาพ” บนแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่ร่วมกับธนาคารกรุงไทย และการให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo