Economics

‘4 เจ้าสัว’กินรวบปักหมุดมิกซ์ยูสทั่วกรุง

โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ7777 01

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลากหลายการใช้ประโยชน์ภายในโครงการเดียว หรือที่เรียกว่า Mixed-Use  Project หรือโครงการมิกซ์ยูส ระยะหลังถูกกล่าวถึงมากขึ้น  มีการแข่งขันกันอย่างมากช่วงหลังๆของ 3-4 ตระกูลดัง ที่แข่งกันปักหมุดขึ้นโครงการ ด้วยรูปแบบดีไซน์ที่แตกต่างและความสูงในแต่ละโครงการ

ข้อมูลล่าสุดในวงการพัฒนาอสังหาฯ ระบุว่า กรุงเทพฯมีการพัฒนาโครงการมิกส์ยูสใหม่ มากถึง 33 โครงการ มูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีทั้งโครงการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กปะปนกันไป

The Bangkok Insight  รวบรวมแผนพัฒนาโครงการมิกส์ยูสขนาดใหญ่ ที่มาจากการลงทุนของตระกูลดัง ผู้ครองอาณาจักรค้าปลีกและพาณิชยกรรม ในกรุงเทพฯ 4 รายใหญ่ ที่กำลังทุ่มทุนสร้างอาณาจักรธุรกิจ ที่จะมาพลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งตึกสูง เช่นเดียวกับมหานครใหญ่ทั่วโลก ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

4 เจ้าสัว

ตระกูลดังทุ่มทุนสร้าง “อาณาจักรเจ้าสัว”   

ตระกูลดังในธุรกิจอสังหาฯ ที่ขาดไม่ได้ นั่นคือ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ของเจ้าสัวใหญ่ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่วันนี้แม้จะผ่องถ่ายธุรกิจในมือให้ทายาทหญิง-ชาย รับไม้ต่อไปพัฒนาแล้ว แต่สัญญลักษณ์ที่แข็งแกร่ง ของตระกูลนี้ยังคงเป็น “เสี่ยเจริญ” ผู้บุกเบิกอาณาจักรไทยเบฟ เบียร์ช้าง สุราแม่โขง และทีซีซี กรุ๊ปนั่นเอง

อาณาจักรมิกซ์ยูส ของตระกูลสิริวัฒนภักดี มีต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่การพัฒนาที่ดินเมื่อ 20-30 ปีก่อน จนกระทั่งรอบหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็มีออกมาหลายโครงการ ยังคงเป็นสัญญลักษณ์ที่โดดเด่น ในปัจจุบัน เช่น โครงการปาร์ค เวนเชอร์ อีโค่เพล็กซ์ ย่านเพลินจิตร ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานอัจฉริยะ มิกซ์ยูสกับโรงแรม 6 ดาว “ดิ โอกุระ เพรสทีจ” อีกโครงการในบริเวณใกล้เคียงกัน คือโรงแรมพลาซ่า แอทธินี่ มิกซ์ยูสกับ แอทธินี่ เรสซิเดนซ์ ที่ถนนวิทยุ และอีกหลายโครงการหลายทำเล

มาดูอาณาจักรมิกซ์ยูส โครงการใหม่ของตระกูลนี้ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังมีอีกหลายโครงการ เริ่มจากโครงการ สามย่าน มิตรทาวน์ ที่พัฒนาไปเกินกว่า 60%  กำหนดเปิดให้บริการเดือนตุลาคม 2562

โครงการนี้เป็นการพัฒนาบนพื้นที่เช่า ระยะยาว 30 ปี ของสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ  แต่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของตลาดสามย่าน กลุ่มทีซีซี ได้เข้าประมูลที่ดินแปลงนี้มาพัฒนาใหม่เป็นโครงการมิกซ์ยูส ที่ประกอบด้วย ศูนย์การค้า คอนโดพักอาศัย และอาคารสำนักงาน

ดำเนินการโดย บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ โกลเด้นแลนด์ ซึ่งได้ร่วมทุนกับทีซีซี แอสเสท จัดตั้ง “บริษัท เกษมทรัพย์ภักดี จำกัด” ขึ้นโดยโกลเด้นแลนด์ถือหุ้น 49% และทีซีซีแอสเทถือหุ้น 51% ของทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท และโกลเด้นแลนด์  เป็นบริษัทอสังหาฯในกลุ่มทีซีซี ทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาโครงการ

สามย่านมิตรทาวน์
โครงการสามย่านมิตรทาวน์

“สามย่านมิตรทาวน์” เป็นการพัฒนาที่ดินกว่า 13 ไร่ บนถนนพระราม 4 หัวมุมตัดกับถนนพญาไท โดยจะพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างรวม 220,000 ตารางเมตร มูลค่าโครงการ 8,500 ล้านบาท ประกอบด้วย

  • อาคารสำนักงานระบบอัจฉริยะ (Artificial Intelligence Building : AI) สูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 65,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ
  • คอนโดมิเนียมผสมเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ (Security & Safety Residence) สูง 35 ชั้น พื้นที่รวม 36,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็น 15%
  • ศูนย์ทักษะพัฒน์ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้แห่งแรกในประเทศไทย (The 1st Ever Skills Shopping Place in Thailand) สูง 6 ชั้น พื้นที่รวม 65,000 หรือคิดเป็น 30% ของโครงการ  ซึ่งจะเปิดบริการ 24 ชั่วโมง
วันแบงคอก
เปิดตัว วัน แบงค็อก

“วัน แบงค็อก”1.2 แสนล้านถ.พระราม4

ในบรรดาโครงการมิกซ์ยูสทั้งหมด โครงการที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในรอบ 2-3 ปีนี้ คือโครงการ “วัน แบงค็อก” (ONE BANGKOK)  ของตระกูลสิริวัฒนภักดี อีกเช่นกัน โครงการนี้เป็นการพัฒนาที่ดิน 104 ไร่ บนถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ บนที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหกษัตริย์ ซึ่งมีหลายกลุ่มทุนแข่งขันประมูล ในที่สุดก็ตกเป็นสัญญาเช่ากับตระกูลสิริวัฒนภักดี

โครงการวัน แบงค๊อก ดำเนินงานโดย บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เฟรเซอร์ส เซ็นเตอร์พอยท์ ลิมิเต็ด (FCL) จากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ ที่เจ้าสัวเจริญ ใช้เงินกว่า 3 แสนล้านบาทเข้าไปเทคโอเวอร์ในตลาดหุ้นสิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อน โดยกลุ่มเฟเซอร์ มีบริษัทที่พัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ด้วย คาดว่าโนฮาวน์การพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส จากสิงคโปร์จะถูกนำมาใช้ผ่านโครงการนี้

Onebangkok 2017render
โครงการวัน แบงค็อก

โครงการ วัน แบงค็อก เป็นการดำเนินงานของกิจการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ทีซีซี แอสเซ็ท (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 80.1% และบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด (เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้) ถือหุ้น 19.9% สำหรับแผนพัฒนาที่ดิน 104 ไร่ บริเวณหัวมุมถนพระราม4-วิทยุ ขึ้นเป็นกลุ่มอาคารรวมพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 1.83 ล้านตารางเมตร จะพัฒนาแล้วเสร็จในปี 2568 ประกอบไปด้วย

  • อาคารสำนักงานเกรดเอตามมาตรฐาน LEED และ WELL
  • โรงแรมหรู ที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์จำนวน 5 โรงแรม
  • ที่พักอาศัยระดับอัลตราลักชัวรี่ 3 อาคาร
  • ร้านค้าปลีก และพื้นที่ทำกิจกรรมที่หลากหลาย

เพียงกลุ่มทุนเดียวของ“เจ้าสัวเจริญ” ครอบครองอาณาจักรมิกซ์ยูส โครงการใหม่ไปแล้วถึง 2 ล้านตารางเมตร แต่นอกจากตระกูลนี้แล้ว ตระกูลเจ้าสัวดังอีกราย อย่าง “จิราธิวัฒน์” ก็เดินแผนสร้างอาณาจักรมิกซ์ยูส ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

ดุสิตเซ็นทรัลปาร์ค
โครงการดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค

“จิราธิวัฒน์-ดุสิตธานี”แลนด์มาร์กใหม่สีลม

เมื่อที่ดินทำเลทองบริเวณหัวมุมถนนสีลม-พระราม4 อันเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานี หมดสัญญาเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลุ่มดุสิตธานี ก็ได้ทำการต่อสัญญาเช่ารอบใหม่ สำหรับที่ดินกว่า 23 ไร่ อันเป็นที่ตั้งโรงแรมดุสิตธานีในปัจจุบัน

พร้อมการต่อสัญญา กลุ่มดุสิตธานีได้ตกลงร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล ของตระกูลจิราธิวัฒน์ เพื่อพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส มูลค่ากว่า 36,700 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานแห่งใหม่บนทำเลถนนสีลม พื้นที่ใช้สอย 403,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย  อาคารสูง 40 ชั้น, 78 ชั้น และ 46 ชั้น จะเปิดบริการศูนย์การค้าในปี 2564 และเปิดใช้พื้นที่ทั้งโครงการในปี 2567

โครงการนี้ดำเนินการโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN และกลุ่มดุสิต คือ บริษัท ดุสิตธานี  จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 3 บริษัท และจัดตั้ง 1 บริษัทย่อย ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดย CPN ประกอบด้วย

  • บริษัท วิมานสุริยา จำกัด (HRRJV) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนโครงการโรงแรม เรสซิเดนซ์ และโครงสร้างอาคารศูนย์การค้า เพื่อเช่าช่วงที่ดินจากดุสิต เพื่อพัฒนาและประกอบธุรกิจโรงแรมและเรสซิเดนซ์ รวมทั้งก่อสร้างโครงสร้างอาคารของศูนย์การค้า โดยฝั่งดุสิตเป็นผู้เช่าที่ดิน จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเซ็นทรัลและดุสิตจะถือหุ้นในสัดส่วน 40 : 60 หรือคิดเป็นมูลค่าโครงการไม่เกิน 21,900 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของดุสิตไม่เกิน 14,200 ล้านบาท
  • บริษัท สวนลุม พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (REJV) เป็นบริษัทร่วมทุนโครงการศูนย์การค้า เพื่อเช่าโครงสร้างอาคารศูนย์การค้าจาก บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ดำเนินการตกแต่ง และประกอบธุรกิจศูนย์การค้า โดยเซ็นทรัล และดุสิต จะถือหุ้นในสัดส่วน 85 : 15 มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 8,900 ล้านบาท คิดเป็นส่วนของดุสิตไม่เกิน 1,340 ล้านบาท
  • บริษัท พระราม 4 เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด (OJV) สำหรับเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าหลักกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยเซ็นทรัล และดุสิต จะถือหุ้นในสัดส่วน 90 : 10 โดยดุสิต จะจำหน่ายสิทธิการเช่าที่ดินให้กับ OJV และจำหน่ายหุ้น 90% ของ OJV ให้แก่เซ็นทรล คิดเป็นมูลค่าจำหน่ายไม่เกิน 2,700.9 ล้านบาท
  • บริษัท ศาลาแดง พร๊อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Office Co.) เพื่อเช่าช่วงที่ดินจาก บริษัท พระราม 4 เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด ดำเนินการพัฒนาก่อสร้าง และประกอบธุรกิจสำนักงาน โดยเซ็นทรัล จะถือหุ้นทั้งหมด

ความร่วมมือนี้ อยู่ในแผนขยายธุรกิจศูนย์การค้าระยะยาวของเซ็นทรัล การลงทุนในโครงการ Mixed-Use Development แต่ละประเภท จะช่วยส่งเสริมให้โครงการร่วมทุนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี รวมทั้งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มฐานรายได้ในการเติบโตทางธุรกิจ

เซ็นทรัลซื้อจีแลนด์ได้“พระราม 9-พหลโยธิน”  

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอีกครั้งของกลุ่มเซ็นทรัล เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายนนี้เอง ที่กลุ่มเซ็นทรัลโดยบริษัท ซีพีเอ็น พัทยา จำกัด ใช้เม็ดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อหุ้นในบริษัท จีแลนด์ จากผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 50.43% ทำให้ต้องเปิดคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของจีแลนด์  ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ จะครบกำหนดในวันที่ 3 ตุลาคม 2561

การที่เซ็นทรัลซื้อหุ้นจีแลนด์จนได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 50.43% ทำให้เซ็นทรัลมีสิทธิ์มีเสียงในการบริหารซึ่งจีแลนด์ มีอสังหาฯ ทำเลดีหลายแปลง ทำให้เซ็นทรัลได้อาณาจักรเหล่านั้นมาด้วย  ได้แก่ ที่ดินพร้อมอาคารกว่า 70 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนรัชดาภิเษก-พระราม 9 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงใหญ่ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งห้างเซ็นทรัลพระราม 9 อาคารจีแลนด์ อาคารไนน์ ทาวเวอร์ อาคารยูนิลีเวอร์ และที่ดินเปล่า สำหรับพัฒนาโครงการเดอะ ซูเปอร์ทาวเวอร์ (อาจพับแผนพัฒนาไป) และพื้นที่เตรียมสร้างโรงแรมในอนาคต

ที่ดินแปลงนี้ มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ได้ในอนาคต เป็นที่ดินอีกแปลงที่น่าจับตามอง  คนในวงการเชื่อว่าเซ็นทรัล จะต้องพัฒนาที่ดินแปลงนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ดีลการซื้อหุ้นนดังกล่าว ยังทำให้เซ็นทรัลได้สิทธิ์การบริหารที่ดินอีกแปลง เนื้อที่ 48 ไร่ บนถนนพหลโยธิน (ตรงข้ามแดนเนรมิตรเดิม) ซึ่งที่ดินแปลงนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างจีแลนด์ และบีทีเอส การพัฒนาในอนาต เซ็นทรัลจะต้องตกลงกับบีทีเอสว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งเป็นที่ดินอีกแปลงที่มีศักยภาพสูง

ดีลซื้อหุ้นจีแลนด์ในครั้งนี้ ทำให้กลุ่มเซ็นทรัล ได้ที่ดินแปลงงามอย่างน้อย 2 ทำเล ซึ่งแป็นกรรมสิทธิ์ถือครอง ไม่ใช่ที่ดินเช่า จะต่อยอดให้เซ็นทรัลสามารถเดินหน้าแผนพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในอนาคตได้สะดวกขึ้น

การได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มเซ็นทรัลจาก จีแลนด์ ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาอีกครั้ง ที่กลุ่มเซ็นทรัล จะมีที่ดินเป็นของตัวเองผืนใหญ่ทีเดียว ตามเป้าหมายกลุ่มเซ็นทรัล ต้องการที่จะพัฒนาที่ดินแห่งนี้ให้เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และโครงการที่อยู่อาศัย แม้ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลจะมีศูนย์การค้าอยู่แล้ว แต่หลังจากซื้อที่ดินจาก จีแลนด์ มาแล้ว น่าจะเป็นตัวดึงดูดการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตของกลุ่มเซ็นทรัลได้ทีเดียว

ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันการแข่งขันการพัฒนาในเรื่องของศูนย์การค้ามีความรุนแรงมาก จากเดิมมีเพียงไม่กี่กลุ่มที่ลงมาเล่นธุรกิจอย่างนี้ แต่ปัจจุบันกลับมีหลายกลุ่มเข้ามาแข่งขันอย่างหนัก ฉะนั้นหากรายไหนมีทำเลที่ดินน่าจะเป็นตัวช่วยในการลงทุนได้ แต่สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล พื้นที่ตรงนี้น่าจะเป็นทำเลทองในอนาคตทีเดียว  

 

ไอคอนสยาม2
โครงการไอคอน สยาม

ทายาทเจ้าสัวซีพีปักธงมิกซ์ยูส 3 ทำเล  

จากเจ้าสัวด้านค้าปลีก ข้ามฝั่งมายังทุนใหญ่เจ้าสัวซีพี ซึ่งแม้จะไม่ได้ลงทุนเองทั้งหมด แต่ทายาทธุรกิจตระกูลเจียรวนนท์ นางทิพพาภรณ์ อริยวนารมณ์ (เจียรวนนท์) ลูกสาวคนเล็ก ของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ผู้บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ก็เป็นอีกรายที่มีโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใน 3 ทำเล ด้วยกัน คือที่คลองสาน  ถนนบางนา-ตราด และราชดำริ

โครงการมิกซ์ยูสที่คลองสาน “ไอคอน สยาม” ICONSIAM เป็นโครงการใหญ่ พัฒนาบนที่ดิน 50 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรีย่านคลองสาน ขึ้นเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ที่มีทั้งศูนย์การค้า และอาคารพักอาศัย มูลค่าโครงการรวมกว่า 54,000 ล้านบาท

โครงการนี้ เป็นความร่วมมือของ บริษัท สยามพิวรรธน์ หรือกลุ่มสยาม, เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น MQDC เริ่มแผนพัฒนามาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันก่อสร้างคืบหน้าเกือบ 100% โดยในส่วนของศูนย์การค้า จะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

โครงการไอคอนสยาม ออกแบบโดยใช้แนวคิด “เมืองแห่งความรุ่งโรจน์อันเป็นนิรันดร์” (The Icon of Eternal Prosperity) พื้นที่โครงการประกอบด้วย อาคารศูนย์การค้า 2 อาคาร (ไอคอนสยาม และไอคอนลักซ์) ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากกระทงบายศรี และการห่มสไบ รายละเอียดในโครงการมี ดังนี้

  • ห้างสรรพสินค้าสยามทาคาชิมาย่า สาขาแรกในประเทศไทย พื้นที่ 36,000 ตารางเมตร
  • ตลาดสุขสยาม
  • ศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ ทรู ไอคอน ฮอลล์ (ร่วมทุนกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น)
  • โรงภาพยนตร์ไอคอน ซีเนคอนิค ในเครือเมเจอร์ฯจำนวน 12 โรง พร้อมโรงภาพยนตร์ระบบไอแมกซ์ 1 โรง
  • สถานออกกำลังกายไอคอน บาย ฟิตเนสเฟิร์สท
  • ไอคอนสยาม เฮอร์ริเทจ มิวเซียม พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาไทย โดยได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ และกรมศิลปากร
  • อาคารที่พักอาศัย 2 อาคาร ได้แก่ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟร้อนท์ เรสซิเดนเซส แอท ไอคอนสยาม ความสูง 317.95 เมตร ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และทำลายสถิติอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยของตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร ที่ 314.2 เมตร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2561
  • เดอะ เรสซิเดนเซส แมนดาริน โอเรียนเต็ล แบงค็อก แอท ไอคอนสยาม ความสูง 272.20 เมตร เป็นอาคารที่พักอาศัยโดยกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ท แมนดารินโอเรียนเตลแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ลานกิจกรรมริเวอร์พาร์ค ความยาวเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 500 เมตร นับเป็นทางเดินริมแม่น้ำยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฟอร์เรสเทียร์2
โครงการ เดอะ ฟอร์เรสเทียร์

“เดอะ ฟอร์เรสเทียร์” ฉีกโมเดลมิกซ์ยูส

อีกโครงการที่เป็นมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ของทายาทเจ้าสัวซีพี คือ โครงการ “เดอะ ฟอร์เรสเทียร์”  THE  FORESTIAS  เป็นโครงการแฟลกซ์ชิพของ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ดิน 300 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราด กม.7  เป็นเมืองในคอนเซ็ปท์ใหม่ เป็นมิกซ์ยูสโปรเจค คอนเซ็ปท์เมืองในป่าแห่งแรกของโลก มูลค่าโครงการกว่า 90,000 ล้านบาท พัฒนาขึ้น ภายใต้คอนเซ็ปท์ “Imagine Happiness”

“เดอะ ฟอเรสเทียร์” จะเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบ Mixed Use Lifestyle โมเดลแรกของโลกที่ครบวงจร มีทั้ง ที่อยู่อาศัย พื้นที่ค้าปลีก อาคารสำนักงาน ศูนย์สุขภาพ สถานศึกษา อาคารนวัตกรรม ภายใต้การสร้างระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ภายในโครงการ

โครงการนี้อยู่ในขั้นเริ่มต้นการพัฒนา รายละเอียดภายในโครงการ ประกอบด้วย

  • 50 Shades of Nature : ในโครงการจะมีพืชพันธุ์รวมกันกว่า 38 สายพันธุ์ ส่วนสัตว์จะมีในเบื้องต้น 123 สายพันธุ์ และในอีก 5 ปีหลังจากโครงการเสร็จสิ้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 250 สายพันธุ์ โดยในโครงการจะมีป่าทึบ ป่าเพื่อผู้อยู่อาศัย ป่าสำหรับผจญภัย และพาวิลเลี่ยนสไตล์ธรรมชาติ
  • Connecting 4 Generations : มีการแบ่งพื้นที่ให้เหมาะสำหรับคนถึง 4 รุ่นในโครงการ โดยออกแบบมาให้สามารถมาพบปะกันได้ สร้างความกลมเกลียวในครอบครัว
  • Community of Dreams : การแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่เพื่อทำให้เกิดรูปแบบไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างหลากหลาย และมีพื้นที่ของชุมชนเพื่อมารวมตัวกัน มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่กระจายทั่วโครงการ เช่น พื้นที่พักผ่อน พื้นที่ทำกิจกรรมทั้งกลางแจ้งและในร่ม สวนศึกษาธรรมชาติ หรืออาจจะตั้งแคมป์ก็ได้ เพราะธรรมชาติในโครงการมีความสมบูรณ์
  • Sustainnovation for Well-being : ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน  นับเป็นดีเอ็นเอของ MQDC ที่สร้างแนวคิดใหม่ของการใช้ชีวิตทั้งในวันนี้และในอนาคตต่อไป
MRB
โครงการแมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด

อีกโครงการใหญ่ ที่ทายาทเจ้าสัวซีพี อย่างบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ลงมือพัฒนาใกล้แล้วเสร็จ คือการพัฒนาพื้่นที่ 6 ไร่เศษ ภายใต้สัญญาเช่า 50 ปี จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นที่ดินทำเลทองติดริมถนนราชดำริ เพื่อขึ้นเป็นโครงการ “แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด (Magnolias Ratchadamri Boulevard) ซึ่งจะเป็นอาคารสูง 60 ชั้น มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท วางคอนเซ็ปท์เป็น “ไอโคนิค บิลดิ้ง” เป็นซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่มิกซ์ยูส ที่ประกอบด้วย

  • อาคารสำนักงาน 3,000 ตารางเมตร
  • โรงแรมหรู พื้นที่ 39,867 ตารางเมตร บริหารโดยแบรนด์ Waldorf Astoria Bangkok ในเครือ Hilton
  • คอนโดระดับลักซ์ชัวรี่ 55,300 ตารางเมตร ราคาขายเฉลี่ยที่ 280,000 บาท/ตารางเมตร จำนวน 316 ยูนิต

คอนเซ็ปท์การพัฒนาที่แปลกใหม่จาก 3 เจ้าสัวตระกูลดัง สร้างความฮือฮาและปักธงนำการพัฒนาไปหลายทำเล ยังมีความเคลื่อนไหวโครงการมิกซ์ยูส ที่น่าสนใจอีกกลุ่ม มาจากฝั่งผู้ประกอบการค้าปลีกชื่อดัง “เดอะ มอลล์ กรุ๊ป” ที่สร้างอาณาจักร เอ็ม ดิสตริค ที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ยังมีโครงการต่อเนื่อง ในทำเลทองถนนสุขุมวิท ช่วงกลางย่านพร้อมพงษ์ พื้นที่โครงการรวม 50 ไร่ ย่านสุขุมวิทซอย 35 สุชุมวิท 22-24

Emquatear
โครงการเอ็มโพเรียมและเอ็มควอเทียร์ ในปัจจุบัน

มิกซ์ยูสสุขุมวิท “เอ็มโพเรียม เอ็ม ดิสตริค” 

โครงการพัฒนาที่ดินบนทำเลสุขุมวิท ส่วนมากเป็นโครงการคอนโดพักอาศัย แต่หากเป็นโครงการขนาดใหญ่จะเป็นการพัฒนาที่ดินแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วยศูนย์ค้าปลีก อาคารสำนักงาน และโรงแรม ซึ่งมิกซ์ยูสขนาดใหญ่บนถนนสุขุมวิทชั่วโมงนี้ คือโครงการ “ดิ เอ็ม ดิสตริค” (The Em District) ของกลุ่ม เดอะมอลล์ ที่พัฒนาต่อเนื่องมาตั้งแต่ โครงการ ดิ เอ็มโพเรี่ยม (The Emporium)  และ ดิ เอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) ที่เปิดให้บริการแล้ว

ล่าสุดยังมีอีกโครงการ ที่เตรียมแผนพัฒนา คือ ดิ เอ็มสเฟียร์ (The Emsphere) บนพื้นที่สุขุมวิทปากซอย 22 เป็นทำเลที่ดีที่สุดใจกลางย่านสุขุมวิท (The Epicenter of Sukhumvit) โดยทั้งสามโครงการ โอบล้อมสวนเบญจสิริ บนเนื้อที่ของทั้งสามโครงการรวม 50 ไร่ พื้นที่โครงการรวม 650,000 ตารางเมตร สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการค้าปลีกไทย ด้วยแผนพัฒนาโครงการศูนย์การค้าระดับโลก เพื่อสร้างย่านการค้า และแหล่งท่องเที่ยว ด้วยงบลงทุนเฉพาะโครงการศูนย์การค้ากว่า 20,000 ล้านบาท และมูลค่าลงทุนรวม 50,000 ล้านบาท

ศุภลักษณ์ อัมพุช 1
นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาศูนย์ค้าปลีกในปัจจุบันต้องมีความพร้อมในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และกิจกรรมที่หลากหลายให้กับลูกค้า โดยนอกจากมาเดินช้อปปิ้งแล้ว ก็ต้องมีพื้นที่บริการอื่นๆ รองรับด้วย อย่างกรณีล่าสุด ที่เดอะมอลล์ ได้จับมือกับพันธมิตรใหม่เป็นผู้นำการให้บริการธุรกิจบันเทิงและกีฬา รายใหญ่ระดับโลก AEG ซึ่งจะเข้ามาร่วมลงทุน 10,000 ล้านบาท ในการพัฒนาศูนย์การแสดงบันเทิง คอตเสิร์ตและกีฬา ตลอดจนธุรกิจ MICE ซึ่งให้บริการด้านงานแสดงสินค้า ประชุม สัมมนาต่างๆ

โดยความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการสร้างศูนย์บันเทิงมาตรฐานโลก ในโครงการใหม่ของเดอะมอลล์ ทั้งที่ ดิ เอ็มสเฟียร์ และ บางกอก มอลล์ มีพื้นที่ความจุผู้ชม 6,000 และ 16,000 ที่นั่ง จะพร้อมเปิดบริการในปี 2564-2565 เรียกว่าเป็นศูนย์บันเทิงมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน เป็นแม่เหล็กใหม่ทึ่จะทำให้ศูนย์ค้าปลีกมีเนื้อหาการให้บริการเพิ่มขึ้น

จากนี้ไปโครงการค้าปลีกใหม่ของเดอะมอลล์ จะทำเป็นมิกซ์ยูสทั้งหมด เป็นค้าปลีกและเรียลเอสเตท

ซีอีโอ เดอะมอลล์ กล่าวว่า การพัฒนาค้าปลีกจากนี้ไปจะไม่ใช่แค่ค้าปลีกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีสำนักงาน เป็นออฟฟิศบิลดิ้ง เป็นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และเป็นเรียลเอสเตท ซึ่งหมายถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบอื่น รวมถึงโรงแรม และอสังหาฯอื่นๆ ซึ่งในอนาคตการพัฒนาจะเป็นแบบผสมผสานกันมากขึ้น

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ จากกลุ่มทุนใหญ่ที่มีทั้งเจ้าสัวจากธุรกิจต่างๆ แลนด์ลอร์ดรายใหญ่อย่าง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และกลุ่มทุนค้าปลีก กลุ่มทุนโรงแรม ที่เปิดแผนและอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อีกหลายรายที่มีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส กระจายในหลายทำเล ด้วยรูปแบบและคอนเซ็ปท์ที่แตกต่างกันไป

Avatar photo