World News

‘พายุนังกา’ พัดถล่ม ‘เกาะไหหลำ’ สั่งปิดเรียน-เรือประมงกลับฝั่งหลายหมื่นลำ

“พายุนังกา” พัดถล่ม “เกาะไหหลำ” ประเทศจีน ทางการสั่งปิดเรียน-เรือประมงกลับฝั่งหลายหมื่นลำ ด้าน “เวียดนาม” ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดับแล้ว 28 ราย

หน่วยงานอุตุนิยมวิทยามณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ทางตอนใต้ของจีน รายงานว่าพายุไต้ฝุ่นนังกา (Typhoon Nangka) ซึ่งเป็นพายุไต้ฝุ่นลูกที่ 16 ของปี พัดขึ้นฝั่งที่เมืองฉยงไห่ของไห่หนาน เมื่อประมาณ 19.20 น. ของเมื่อวาน (13 ต.ค. 63) ตามเวลาท้องถิ่น

พายุนังกา ไหหลำ

ศูนย์บริการอุตุนิยมวิทยาไห่หนานรายงานว่า พายุนังกา เป็นพายุไต้ฝุ่นลูกแรกที่พัดถล่มไห่หนานในปีนี้ และพัดขึ้นฝั่งบริเวณชายฝั่งตำบลโป๋เอ๋าด้วยความเร็วลมสูงสุด 25 เมตรต่อวินาที โดยโรงเรียนในซานย่า ว่านหนิง ฉยงไห่ และหลิงสุ่ย ถูกสั่งปิดเรียนชั่วคราว ส่วนเรือประมงในไห่หนานกลับเทียบท่ากว่า 21,500 ลำ ขณะที่ชาวประมงกลับขึ้นฝั่งกว่า 66,900 คน

มีการคาดการณ์ว่า ไต้ฝุ่นนังกาจะก่อให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนักในพื้นที่ส่วนใหญ่ของไห่หนานตั้งแต่คืนวันอังคารถึงวันนี้ (14 ต.ค. 63) โดยทางการไห่หนานออกประกาศเตือนพายุไต้ฝุ่นระดับ 2 และประกาศเตือนพายุฝนระดับ 3 พร้อมทั้งระงับบริการเรือข้ามฟากและรถไฟจำนวนมาก รวมถึงยกเลิกเที่ยวบินบางเที่ยว

ทั้งนี้ จีนมีระบบการเตือนภัยสภาพอากาศ 4 ระดับ ซึ่งระดับที่ 1 (Level-I) ถือว่ารุนแรงที่สุด

พายุนังกา ไหหลำ
                                 พายุนังกา พัดถล่ม เกาะไหหลำ ทางตอนใต้ของประเทศจีน

“เวียดนาม” ฝนตกหนัก-น้ำหลาก ดับ 28 คน

หลายพื้นที่ในจังหวัดกว๋างจิทางตอนกลางของเวียดนาม ได้รับความเสียหายจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้

เมื่อวานนี้คณะกรรมการอำนวยการกลางเพื่อป้องกันและควบคุมภัยพิบัติธรรมชาติของเวียดนาม ระบุว่าฝนที่ตกหนัก น้ำหลากที่เกิดขึ้นตามมา และภัยพิบัติธรรมชาติอื่นๆ ในเวียดนามที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่วันนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 28 ราย และผู้สูญหาย 12 ราย ในพื้นที่ตอนกลางและภูมิภาคที่สูงตอนกลาง (Central Highlands) ของประเทศ

น้ำท่วม เวียดนาม
ประเทศเวียดนาม

“กรมอุตุฯ ไทย” เตือนภัย พายุนังกา

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาของไทย ออกประกาศพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) “นังกา” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2563 ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2563

กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (14 ตุลาคม 2563) พายุโซนร้อนนังกา บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีศูนย์กลางอยู่ที่อ่าวตังเกี๋ย ประเทศจีน หรือที่ละติจูด 19.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 108.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็ว ประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

คาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวตังเกี๋ย เข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ในวันนี้ (14 ตุลาคม 2563) โดยจะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นในบริเวณด้านตะวันออก และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และควรงดการเดินเรือในระยะนี้

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่ เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

121201571 3348239688574411 2187029640310546670 o

ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2563 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศ ปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ และปริมาณฝนสะสมกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นบริเวณทะเลจีนใต้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็น พายุ โซนร้อน (ระดับ 3) และมีแนวโน้มเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าสู่ตอนบนของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 7 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนบน เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 14 – 16 ตุลาคม 2563 ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร และนครพนม รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo