Politics

ศูนย์ทนายฯ ลั่นจับกุม-คุมขัง ‘คณะราษฎรอีสาน’ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย!

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ชี้การจับกุม – คุมขัง “คณะราษฎรอีสาน 21 ราย” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 3 ประการ ทั้งข้ามขั้นตอนปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ไม่พาตัวผู้ถูกจับกุมไปยังสน.ท้องที่ที่มีการจับกุม และ ตัดสิทธิผู้ถูกจับกุมที่จะพบและปรึกษาทนายความ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ หลังจากเจ้าหน้าที่จับกุมแกนนำม็อบ 14 ตุลาฝั่งอีสาน นำโดย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และพวกรวม 21 คน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม โดยระบุว่า การจับกุม-ควบคุมตัว นักศึกษา-ประชาชนคณะราษฎรอีสาน 21 ราย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จากสถานการณ์การเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมตัวนักศึกษาและประชาชน #คณะราษฏรอีสาน จำนวน 21 ราย ที่ปักหลักรอร่วมการชุมนุมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม โดยอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำผิดกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.จราจรฯ เป็นต้น ที่ไม่ได้ส่งผลให้สิทธิของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธสูญสิ้นไป

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ การจับกุมหรือการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการละเมิดการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 44 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21

ขณะเดียวกันนั้น การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้นยังเป็นการปฏิบัติงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถึง 3 ประการด้วยกันดังนี้

1. ข้ามขั้นตอนปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

การชุมนุมสาธารณะของประชาชน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยมีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือไม่ก็ตาม การใช้สิทธิในการชุมนุมของประชาชน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งให้ยุติการชุมนุม หรือกระทั่งจะปฏิบัติการสลายการชุมนุม จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

1.1 หากเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะ เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาทิ ชุมนุมในระยะ 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง, ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน เป็นต้น เจ้าพนักงานที่ดูแลการชุมนุมจะต้องประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม หรือแก้ไขการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด

1.2 เมื่อผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนดตามประกาศ เจ้าพนักงานต้องร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจในพื้นที่ ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม

1.3 เมื่อศาลมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมยังไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะจะต้องมีการประกาศพื้นที่ควบคุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายในเวลาที่กำหนด

1.4 สุดท้ายคือหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดพื้นที่ควบคุม ยังคงมีผู้ชุมนุมหรือประชาชนในพื้นที่ จะถือว่าเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมได้ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา

ทั้งนี้ ไม่ปรากฎว่าในการสลายการชุมนุมและจับกุมตัวประชาชนอย่างน้อย 21 ราย ที่เกิดขึ้นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้ประชาชนเลิกการชุมนุม และไม่มีการประกาศพื้นที่ควบคุมก่อนเข้าปฏิบัติการตามกฎหมายแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างว่าผู้ชุมนุมกระทำความผิดซึ่งหน้าและเข้าจับกุมผู้ชุมนุมโดยไม่ปฏิบัติตามกระบวนการในกฎหมายนั้น ทำให้พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ไร้ความหมายในทางปฏิบัติ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

2. ไม่พาตัวผู้ถูกจับกุมไปยังสน.ท้องที่ที่มีการจับกุม

ไม่ว่าจะมีการดำเนินการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยข้อกล่าวหาตามกฎหมายใด การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีวิจารณาความอาญา มาตรา 83 ที่ระบุว่า “ในการจับนั้น เจ้าพนักงานซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ”

หมายความว่าผู้ถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งให้ทราบว่ากำลังจะถูกจับกุมตัว และทราบข้อกล่าวหาความผิดตามกฎหมายที่เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานต้องจับกุมตัว

ต่อมาหลังถูกจับกุมตัว ผู้ถูกจับกุมจะต้องถูกพาตัวไปยังสถานีตำรวจที่มีเขตอำนาจในท้องที่ซึ่งมีการจับกุมเกิดขึ้นทันที และพนักงานสอบสวนในสถานีตำรวจนั้นจะมีอำนาจสอบสวนและแจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกจับกุมได้

แต่กลับปรากฎว่า ระหว่างการจับกุมตัวประชาชน 21 ราย ของกลุ่มคณะราษฏรอีสานนั้น ไม่ปรากฎชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่ผู้ถูกจับกุมทราบหรือไม่ อีกทั้งภายหลังมีการจับกุมตัวประชาชนทั้ง 21 ราย กลับถูกพาตัวไปยังกองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ และไม่ใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด

3. ตัดสิทธิผู้ถูกจับกุมที่จะพบและปรึกษาทนายความ

ภายหลังการจับกุมตัว ผู้ถูกจับกุมตัวยังมีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีวิจารณาความอาญา มาตรา 83 วรรคสอง ที่ระบุว่า “ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ”

หมายความว่า ผู้ถูกจับกุมตัวมีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ ต่อเจ้าพนักงานหรือไม่ก็ได้ เพราะคำให้การของผู้ถูกจับกุมจะถูกนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีได้ อีกทั้ง ผู้ถูกจับยังมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ที่จะช่วยอธิบายขั้นตอนทางกฎหมายและข้อกล่าวหา พร้อมทั้งสิทธิที่ผู้ต้องหามีได้ทราบอย่างชัดเจน

แต่กลับปรากฎว่า หลังการจับกุมตัวประชาชนอย่างน้อย 21 ราย และถูกพาตัวไปยังกองบังคับการตำรวจชายแดนภาค 1 เมื่อผู้ต้องหาได้ติดต่อทนายความให้เข้าติดตามและให้คำปรึกษาทางกฎหมาย ปรากฎว่าเมื่อทนายความเดินทางไปขอพบผู้ถูกจับกุม กลับได้รับการปฏิเสธไม่ให้เข้าพบ ตั้งแต่เวลา 17.45 น. จนถึงเวลา 21.00 น. อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตชด.บริเวณประตูได้ขอจดชื่อทนายไปสอบถามผู้บังคับบัญชา ก่อนกลับมาแจ้งว่ายังไม่อนุญาตให้เข้าอีกด้วย

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนการจับกุมประชาชนที่เกิดขึ้นและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจครั้งนี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยประการทั้งปวง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo