Digital Economy

กรณีศึกษา สร้าง ‘เมืองอัจฉริยะ’อย่างไรให้ใช้งานได้จริง

3 nokia

เอ่ยถึงเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities) หลายคนอาจมีภาพของเมืองอัจฉริยะที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกันได้ด้วยความเร็วสูงบนเครือข่าย 5G การติดตั้งอุปกรณ์ IoT สำหรับตรวจจับความผิดปกติ หรือการกระทำที่ผิดกฎหมาย และรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้หาทางยับยั้งอันตรายได้ทัน หรือบางคนอาจนึกภาพไปถึงเมืองที่ประชากรอาศัยได้อย่างปลอดภัย และอยู่ได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสามารถบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคอย่าง น้ำ ไฟฟ้า ขยะ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสาเหตุที่การสร้างเมืองอัจฉริยะกลายเป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงในช่วงนี้ อาจมาจากหลายปัญหาที่สะสมมานาน เช่น ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนที่คร่าชีวิตพลเมืองมากมายในแต่ละปี ปัญหาการย้ายถิ่นฐานจากชุมชนต่างจังหวัดเข้าสู่ชุมชนเมืองเนื่องจากต้องการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ปัญหาด้านสังคมผู้สูงอายุ ปัญหาด้านความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งการจัดการทรัพยากรที่ขาดความยั่งยืน ทำให้มีขยะตกค้าง หรือสารพิษปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ

โซลูชัน “เมืองอัจฉริยะ” จึงถูกฝากความหวังไว้ว่าจะสามารถแก้ไขความผิดพลาดในอดีตเหล่านั้นลงได้ เพียงแต่ภาพที่สะท้อนออกมาจากงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ไม่ใช่การบอกว่า การสร้างเมืองอัจฉริยะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องสนใจ และร่วมกันสร้างเมืองดังกล่าวขึ้นมา โดยหนึ่งในค่ายที่จัดแสดงโซลูชันเมืองอัจฉริยะอย่างโนเกีย ได้มีการนำยูสต์เคสต่าง ๆ ของเมืองอัจฉริยะที่เกิดขึ้นมาแล้วทั่วโลกมาเปิดเผยด้วย ยกตัวอย่างเช่น

โรงงานอัจฉริยะ Oulu ในฟินแลนด์ ที่นำอุปกรณ์ IoT เช่น กล้องเข้ามาตรวจจับการผลิตสินค้าบนสายพาน และส่งข้อมูลให้เอไอวิเคราะห์ว่ามีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ พนักงานโรงงานมีสมาธิในการทำงานหรือไม่ ฯลฯ เพื่อให้ระบบสามารถแจ้งเตือนและแก้ไขได้ทันการณ์

port of hamburg
ท่าเรืออัจฉริยะที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี (ภาพจากเอเอฟพี)

ท่าเรืออัจฉริยะที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี ขนาดพื้นที่ 80 ตารางกิโลเมตร ท่าเรือแห่งนี้ต้องรองรับรถบรรทุกขนส่งสินค้ากว่า 10,000 คันต่อวัน เพื่อลำเลียงสินค้าขึ้นลงจากเรือ ด้วยเหตุนี้จึงมีการติดตั้งเซนเซอร์กว่า 100,000 ชิ้น, กล้องวิดีโอ และอุปกรณ์ VR เพื่อตรวจจับความเคลื่อนไหวภายในท่าเรือตลอดเวลา และสุดท้ายเป็นระบบช่วยควบคุมประตูน้ำ และโครงสร้างต่าง ๆ ภายในท่าเรือ ผลการพัฒนาพบว่า สามารถลดมลพิษในบริเวณท่าเรือลงได้, การจราจรภายในท่าเรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น, และท่าเรือสามารถให้บริการได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

use case in germany
ตัวอย่างท่าเรืออัจฉริยะในเยอรมนี (ขอบคุณภาพจากโนเกีย)

การรับชมการแข่งขันกีฬาผ่านอุปกรณ์ VR ตัวอย่างนี้มีการทดสอบแล้วที่เกาหลีใต้ กับการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาภายในสเตเดี้ยมขนาดใหญ่ส่งตรงไปยังแว่น VR ทำให้ผู้ชมสามารถรับชมการแข่งขันได้ในบรรยากาศที่สมจริง โดยไม่ต้องเดินทางมายังสนามด้วยตัวเอง

การพัฒนาดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขยายแนวคิดเมืองอัจฉริยะออกไปให้กว้างขวาง เนื่องจากจะได้เห็นตัวอย่างการใช้งานจริง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความอัจฉริยะเหล่านั้นด้วย อย่างไรก็ดี ในการพัฒนานั้นจำเป็นต้องวิเคราะห์อย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานด้วยจึงจะเป็นเมืองอัจฉริยะที่สมบูรณ์และปลอดภัย

Avatar photo