Economics

กรรมการปฏิรูปพลังงานเดินสายขายแผน-หาความร่วมมือปรับ 6 ด้าน 17 ประเด็น

ปฏิรูปพลังงาน

เร่งปฏิรูปพลังงานประเทศ ระดมพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ และรัฐวิสาหกิจในสังกัด เตรียมพร้อมขับเคลื่อนปรับปรุงพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็น ด้านคณะกรรมการปฏิรูปฯเตรียมเดินสายพบกระทรวงสำคัญหาความร่วมมือร่วมปฏิรูป

การบริหารจัดการของภาครัฐขาดการยอมรับจากประชาชน นำไปสู่ความขัดแย้ง การจัดหาพลังงานไม่เป็นตามเป้าหมาย การลงทุนสำรวจและผลิตโตรเลียม รวมถึงการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าชะงัก

การปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป ย่อมไม่เป็นผลดี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน และกระทรวงพลังงานจับมือกันมาหลายปี เพื่อกำหนดโรดแมพการปฏิรูป 5 ปี ( พ.ศ.2561-2565 )  ปรับการบริหารจัดการด้านพลังานของประเทศใน 6 ด้าน 17 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. การบริหารจัดการพลังงาน
  2. ไฟฟ้า
  3. ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี
  4. สนับสนุนพลังงานทดแทน
  5. การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  6. เทคโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน

แต่แผนจะเดินหน้าได้จริงต้องอาศัยการทำงานในระดับพื้นที่ ซึ่งกลไกหลักของกระทรวงพลังงาน หนีไม่พ้นพลังงานจังหวัด และหน่วยงาน รวมถึงองค์กรด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

เมื่อแผนปฏิรูปพลังงานจะต้องขับเคลื่อนแล้ว จึงมีการระดมพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภายใน และรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน กว่า 300 คนเข้ามาร่วมรับรู้แผนปฏิรูปพลังงานภายใต้หัวข้อ  “สื่อสารนโยบายปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสู่การปฏิบัติ” เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561  มีพลเอกเลิศรัตน์  รัตนวานิช รองประธาน และนายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการปฏิรูปฯร่วมเวทีด้วย

เสวนาปฏิรูป

นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้กำหนดไว้ 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย

  1. การเขียนแผน
  2. จัดทำแผนปฏิบัติการ
  3. การประชุมกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะกับพลังงานจังหวัดในฐานะกลไกหลักในการขับเคลื่อนสำคัญ
  4. คณะกรรมการปฏิรูปประเทศร่วมกับกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนนี้ โดยจะเดินสายทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนปฏิรูปพลังงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาความร่วมมือในการทำงานร่วมกันในอนาคต อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การนำแผนปฏิรูปพลังงานไปสู่การปฏิบัติจะอาศัยกลไกการทำงานแบบบูรณาการ ผ่านคณะกรรมการเพื่อการประสานงานเชื่อมโยงกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย กระทรวงพลังงาน มีตนเองเป็นประธาน  และคณะอนุกรรมการอีก 6 คณะรองรับการทำงานใน 6  ด้าน

สำหรับด้านไฟฟ้า และเทคโนโนโลยี นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน มีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นประธาน ด้านปิโตรเลียม และปิโตรเคมี มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน และด้านการอนุรักษ์พลังงานฯ มีอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นประธาน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการหารือกันทุกเดือน และเชื่อมโยงกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศฯ เพื่อติดตามการขับเคลื่อน

สำหรับกรอบการปฏิรูปฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงแรก อาทิ การจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศให้เกิดความต่อเนื่อง  การยกระดับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รับเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร (BEC)  และเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานอาคารรัฐด้วยกลไก ESCO  นอกจากนี้ยังมีแนวทางจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลพลังงานที่เชื่อถือ ลดการบิดเบือนข้อมูลพลังงาน

“การปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเน้นปรับปรุงภารกิจด้านพลังงานให้มีความชัดเจน มีประสิทธิภาพ และสอดรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน  โดยจะต้องสื่อสารไปถึงประชาชนในพื้นที่ ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค ซึ่งการระดมพลังงานจังหวัดมาร่วมรับฟัง และระดมสมองครั้งนี้ จะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการถ่ายทอดการดำเนินงานด้านการปฏิรูปฯ ของกระทรวงพลังงานให้ขยายผลสู่วงกว้าง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือ”

Avatar photo