Economics

‘ครม.’ อนุมัติเพิ่ม ‘ค่าทำศพ’ ประกันสังคมมาตรา 40 จำนวน 5,000-10,000 บาท

“ครม.” อนุมัติหลักการเพิ่มประโยชน์ทดแทน “ค่าทำศพ-เงินสงเคราะห์” ประกันสังคมมาตรา 40 ตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท

น.ส.ไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ (12 ต.ค. 63) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน

ค่าทำศพ ประกันสังคมมาตรา 40

เพิ่ม “ค่าทำศพ” ประกันสังคมมาตรา 40

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนเกี่ยวกับเงินค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตาย สำหรับบุคคลซึ่งไม่ใช่ลูกจ้าง แต่สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533

สำหรับอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนใหม่ที่ปรับปรุงเป็นดังนี้

  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 70-100 บาท ถึงแก่ความตาย อัตราเดิมจะได้เงินค่าทำศพ 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตายเพิ่มเติมอัตราเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 8,000 บาท
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ถึงแก่ความตาย อัตราเดิมจะได้เงินค่าทำศพ 40,000 บาท อัตราใหม่ 50,000 บาท

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ประมาณการรายรับของกองทุนประกันสังคมจากการจัดเก็บเงินสมทบของ ประกันสังคมมาตรา 40 ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2563 รวมมีผู้ประกันตนทั้งหมด 3,353,939 คน จัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนในปี 2562 ได้จำนวน 1,557 ล้านบาท และเงินสมทบจากรัฐบาล 779 ล้านบาท  มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายเป็นเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ประจำปี 2562 จำนวน 200 ล้านบาท

เมื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนในอัตราใหม่คาดว่าในปี 2563-2564 กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินค่าทำศพเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 77 ล้านบาท  และเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นปีละ 93 ล้านบาท

ค่าทำศพ ประกันสังคมมาตรา 40
                                    แนวทางการเพิ่มเงินทดแทนกรณีเสียชีวิต ประกันสังคมมาตรา 40

สิทธิประโยชน์ ผู้ประกันตนมาตรา 40

สำหรับผู้ประกันตนในระบบ ประกันสังคมมาตรา 40 คือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ไม่มีนายจ้าง โดยปัจจุบันการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 มีทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบและการรับสิทธิประโยชน์ 3 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือน รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี ได้แก่

  • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี
  • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตายเพิ่มอีก 3,000 บาท หากจ่ายเงินสมบทเกิน 60 เดือน

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี ได้แก่

  • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 30 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 15 ปี
  • กรณีเสียชีวิต ค่าทำศพ 20,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตายเพิ่ม 3,000 บาท หากจ่ายเงินสมทบเกิน 60 เดือน
  • กรณีชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 50 บาทต่อเดือน ออมเพิ่มได้ 1,000 บาทต่อเดือน

fig 24 03 2020 03 35 09

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี ได้แก่

  • กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาทต่อวัน ไม่เกิน 90 วันต่อปี
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต
  • กรณีเสียชีวิต เงินค่าทำศพ 40,000 บาท
  • กรณีชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาทต่อเดือน ออมเพิ่มได้ 1,000 บาทต่อเดือน
  • กรณีสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อคนต่อเดือน คราวละไม่เกิน 2 คน

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ให้ความสำคัญแก่แรงงานอิสระ โดยการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ แรงงานอิสระหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็น ประกันสังคมมาตรา 40 มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo