Business

พิษ ‘โควิด’ ลากยาว คนไทยรายได้ลด กู้เงินเพิ่ม ไม่เหลือเงินเก็บ

คนไทยรายได้ลด กู้เงินเพิ่ม ไม่เหลือเงินเก็บ มาร์เก็ตบัซซ เผยผลสำรวจ ช่วงโควิด ยังกระทบหนัก ต้องการแหล่งสินเชื่อ เพิ่มสูงขึ้นเห็นได้ชัด กระทบ เศรษฐกิจไทย

จากสถานการณ์ของโควิด-19 ยังคงสร้างความท้าทายในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของ ผลกระทบที่มีต่อ รายได้ของคนไทย ในปัจจุบัน โดยพบประเด็นหลัก ๆ จากผลของโควิด-19 คือ คนไทยรายได้ลด กู้เงินเพิ่ม ไม่เหลือเงินเก็บ ต้องการแหล่งสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น

คนไทยรายได้ลด กู้เงินเพิ่ม

ทั้งนี้ ผลสำรวจของ มาร์เก็ตบัซซ จาก กลุ่มประชากรจำนวน 2,000 รายจากทั่วประเทศ ในระหว่างเดือนเมษายน 2563 และช่วงหลังของการล็อกดาวน์ ในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยได้รับผลกระทบ เรื่องรายได้ และค่าตอบแทน เกือบครึ่งของประชากรทั้งหมด คิดเป็น 44% ที่มีรายได้ และผลตอบแทนที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่เคยได้รับ ก่อนสถานการณ์วิกฤติโควิด-19

นอกจากนี้ ยังพบว่า 20% ของคนไทย กล่าวว่า พวกเขามีการใช้จ่ายทุกอย่าง เป็นไปตามปกติ แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บไว้ สำหรับเป็นเงินออม และ อีก 21% มีความจำเป็น จะต้องนำเงินออมไว้มาใช้จ่าย แต่ยังไม่มีความต้องการกู้ยืมเงิน แบบสินเชื่อส่วนบุคคล

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากไปกว่านั้น คือ 27% ของคนไทย ไม่มีเงินเหลือเพียงพอ ในการใช้จ่าย และ หวังพึ่งสถาบันการเงิน มีการกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล หรือ ขอยืมเงินจากคนในครอบครัว จากเพื่อน หรือ แม้กระทั่ง มีการนำสิ่งของออกไปจำนำ เพื่อนำเงินมาใช้จ่าย

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปตามผลการสำรวจของ มาร์เก็ตบัซซ ที่ติดตามผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อควรระวัง สำหรับหลายคน ที่อาจได้รับผลกระทบ และทวีความกังวลมากยิ่งขึ้น จากเหตุการณ์วิฤกติครั้งนี้

คนไทยรายได้ลด กู้เงินเพิ่ม

นายแกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาร์เก็ตบัซซ กล่าวว่า หลายคนต้องพบกับอุปสรรคความยากลำบาก ในการจัดการเรื่องการเงิน และมองหาความช่วยเหลือ ด้านการเงินจากธนาคารและรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของครัวเรือน ที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และอัตราการไม่ได้ทำงาน สูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงมาก การสำรวจยังเผยให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีความต้องการ ในการขอสินเชื่อมากขึ้น

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในขณะนี้ ยังคงเกี่ยวข้องกับ วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ และยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อระบบเศรษฐกิจ และคนไทยทั้งประเทศ ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่า การกักตัว จะช่วยการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ส่งผลให้คนไทย อยู่ในสภาวะทางการเงิน ที่ค่อนข้างเลวร้าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของรายได้ของครอบครัว ที่ลดลง แม้ว่าจะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือ ด้านการเงินจากรัฐบาล เพื่อช่วยกระตุ้นประชาชน ให้มีการใช้จ่ายเงินมากขึ้นก็ตาม

ขณะที่ภาครัฐเอง ให้ความสำคัญกับการเยียวยาโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากมาตรการเยียวยาต่างๆ ที่ออกมาแล้ว ในการประชุม คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (สศช.) ที่ประชุมให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ อาทิ

การดำเนินการจัดทำแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในรูปแบบเฉพาะกิจ เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงระหว่างปี 2564-2565 ซึ่งกำหนดเป้าหมายหลัก เพื่อให้คนมีงานทำ สามารถยังชีพอยู่ได้

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่
แกรนท์ บาร์โทลี่

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับ กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง การสร้างอาชีพ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ และมีการวางรากฐาน เพื่อรองรับการปรับโครงสร้าง เศรษฐกิจใหม่

ทั้งนี้ ร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจฯ 3 มิติของการพัฒนา คือ การพร้อมรับ การปรับตัว และการเปลี่ยนแปลง เพื่อพร้อมเติบโตอย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 4 ประเด็นหลักการพัฒนา ได้แก่

  • การเพิ่มความเข้มแข็ง ของเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ
  • การยกระดับขีดความสามารถของประเทศ เพื่อรองรับการเจริญเติบโต อย่างยั่งยืนในระยะยาว
  • การพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพชีวิตของคน ให้เป็นกำลังหลัก ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
  • การปรับปรุง และพัฒนา ปัจจัยพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟู และพัฒนาประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo