Environmental Sustainability

‘โซลาร์ลอยน้ำทะเล’ นวัตกรรม ‘พลังงานทางเลือก’ ที่ยั่งยืน

จำนวนประชากรโลก ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้พลังงาน เพิ่มขึ้นสูงอย่างมาก ซึ่งพลังงานที่นิยมใช้กันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง พลังงานจาก “ฟอสซิล” หรือ “ถ่านหิน” นั้น ยิ่งใช้มากเท่าใด ก็ยิ่งส่งผลเสียให้กับภาวะแวดล้อมมากขึ้น

จนทำให้โลกต้องประสบกับปัญหา “ภาวะเรือนกระจก” หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า “ภาวะโลกร้อน” ต้นตอของสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างผลกระทบอย่างมากทั้งกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินชีวิตประจำวัน และเศรษฐกิจ

โซลาร์ลอยน้ำทะเล

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ “พลังงานทางเลือก” กลายมาเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และ น้ำ ที่ถือเป็นทรัพยากรหมุนเวียน นำมาใช้ได้ในแบบที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยที่สุด และเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้น ก็ยังทำให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกเหล่านี้ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง

นวัตกรรมพลังงานที่กำลังมีการพูดถึงล่าสุดคือ “ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล” หรือ “Floating Solar” ขนาด 100 กิโลวัตต์ ที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พัฒนาขึ้นมา และนำมาทดลองผลิตไฟฟ้า นำร่องใช้กับกลุ่มบริษัทในเครือ เริ่มแรกที่ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ในจังหวัดระยอง ซึ่งมีพื้นที่ติดทะเล เหมาะกับการเป็นต้นแบบติดตั้งการใช้งาน

ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล หรือ โซลาร์ลอยน้ำทะเล พัฒนาขึ้นจากการนำนวัตกรรมเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ “InnoPlus HD8200B” ที่พัฒนาโดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) เข้ามาผลิตทุ่นลอยน้ำ เพิ่มสารลดการสะสมของเพรียงทะเล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ทะเล และมีอายุการใช้งานกลางแจ้งยาวนาน 25 ปี

จากนั้น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ในฐานะแกนนำการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของ กลุ่ม ปตท. ได้ให้ บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) เป็นผู้ออกแบบ และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล โดยในระยะแรกจะนำไฟฟ้าที่ผลิตได้ไปใช้ภายในสำนักงาน เพื่อเป็นต้นแบบการศึกษา และพัฒนารูปแบบทางธุรกิจ

ที่มาที่ไป “โซลาร์ลอยน้ำทะเล”

วิทวัส สวัสดิ์-ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. ระบุว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้เล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศไทย สอดรับกับนโยบายรัฐในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

“โครงการนี้ เป็นการผสานความเชี่ยวชาญของ กลุ่ม ปตท. ด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการพลังงาน ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และนับเป็นโครงการแรกของประเทศไทย ที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ในน้ำทะเล ที่ไม่เพียงมีส่วนสำคัญในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด แต่ยังมีส่วนช่วยยกระดับการพัฒนานวัตกรรมที่ต่อยอดสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ (New Energy Business) ที่กลุ่ม ปตท. ได้วางเป้าหมายไว้”

ขณะที่ ปฏิภาณ สุคนธมาน ผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า เพื่อตอบสนองการใช้งานทุ่นลอยน้ำชนิดลอยในทะเล ที่มักประสบปัญหาการเกาะสะสมของเพรียงทะเล และการใช้งานกลางแดดจัด ทำให้ทุ่นลอยน้ำ เกิดความเสียหายและอายุการใช้งานสั้น GC จึงได้พัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก InnoPlus HD8200B ซึ่งมีความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทก ขึ้นรูปได้ง่าย ช่วยลดความหนา เมื่อนำมาอัดรีดเป่าขึ้นรูปในแม่พิมพ์ (Extrusion blow molding) เป็นทุ่นลอยน้ำ

นอกจากนี้ ยังเป็นเป็นทุ่นลอยน้ำต้นแบบที่เพิ่มสารต้านการยึดเกาะ และลดการเกาะสะสมของเพรียงทะเลเป็นครั้งแรก ได้การรับรองตามมาตรฐานการสัมผัสอาหาร (Food Contact Grade) มีความปลอดภัยต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม และสารแต่งเติมป้องกันรังสี UV รับประกันความทนทานต่อรังสี UV 25 ปี

จากผลการทดสอบที่ผ่านมา พบว่าทุ่นลอยน้ำในโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์ ซึ่งลอยอยู่ในน้ำทะเล มีการเกาะสะสมของเพรียงทะเลน้อยลง มีความทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้งได้ดีเยี่ยม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสัตว์และพืชทะเล

โซลาร์ลอยน้ำทะเล

GC ยังคงมุ่งพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุ่นลอยน้ำมีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น สามารถต้านการยึดเกาะและลดการสะสมของเพรียงทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน (Application-based) รวมถึงต่อยอดสู่การออกแบบแม่พิมพ์ทุ่นลอยน้ำรูปแบบใหม่ๆ เพื่อตอบสนองการใช้งานที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า GPSC ซึ่งเป็นแกนนำด้านนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ได้ให้ CHPP ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100% เข้าร่วมพัฒนาโครงการต้นแบบนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงานของประเทศโครงการนี้ โดยมีความแตกต่างจากการพัฒนาระบบโซลาร์ลอยน้ำ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และได้ผ่านการทดสอบทางด้านประสิทธิภาพ และเทคโนโลยีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งในด้านคุณภาพการจ่ายไฟฟ้า ความคงทนต่อการกัดกร่อนจากความชื้น และความเค็มของน้ำทะเล

โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จของกลุ่ม ปตท. ที่ได้มีการผสานเทคโนโลยี ทั้งด้านเคมีภัณฑ์ และนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยพร้อมที่จะนำแนวทางของการพัฒนานวัตกรรมใหม่ครั้งนี้ ไปสู่การพัฒนาในพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสมทั้งใน และต่างประเทศต่อไป

โซลาร์ลอยน้ำทะเล

ทางด้าน ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ กรรมการผู้จัดการ PTT Tank กล่าวว่า ระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล หรือ โซลาร์ลอยน้ำทะเล ขนาด 100 กิโลวัตต์ สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ให้กับ PTT Tank ได้ปีละ 390,000 บาท ตลอดอายุโครงการที่ 7.8 ล้านบาท ทั้งยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 36 ตัน ตลอดอายุโครงการกว่า 725 ตัน เป็นการต่อยอดองค์ความรู้ และสร้างแหล่งเรียนรู้พลังงานหมุนเวียนให้กับชุมชน เยาวชนในพื้นที่รวมถึงผู้ที่มีความสนใจทั่วไป

ส่วน คมสัน ศักดิ์ศรีวัฒนา ผู้จัดการทั่วไป CHPP อธิบายด้วยว่า การติดตั้ง Floating Solar ในน้ำทะเล แตกต่างจากการติดตั้งในบ่อน้ำทั่วไป เนื่องจากต้องมีการคำนึงถึงระดับน้ำทะเล ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องออกแบบการคำนวณ ระบบยึดโยงตามหลักวิศวกรรม และความเหมาะสม กับสภาพแวดล้อมบริเวณทะเลนี้ เช่น ระดับความสูงของคลื่น ความเร็วลม เพื่อให้การยึดโยงแผง และทุ่นลอยน้ำ มีความแข็งแรง รองรับกับการเปลี่ยนแปลง ของระดับน้ำทะเล

CHPP ยังมุ่งมั่น ในการพัฒนานวัตกรรม สำหรับทุ่นลอยน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำ ให้ CHPP ก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิต และจำหน่ายทุ่นลอยน้ำชั้นนำของประเทศไทย

โซลาร์ลอยน้ำทะเล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo