Business

สัญญาณฟื้น! ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกโต ชู‘4 เทรนด์’ชิงกำลังซื้อ

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตชัดเจน  สะท้อนจาก “จีดีพี”  ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2560 ที่ระดับ 4.0% ไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 4.9%  ไตรมาสสอง 4.6%  คาดการณ์ปี 2561 อยู่ที่ 4.2-4.7%   เช่นเดียวกับสัญญาณบวกอื่น ๆ ทั้งส่งออก ท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ  การลงทุนเอกชน ที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง

สอดคล้องกับเม็ดเงินโฆษณาปีนี้ที่ 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) เริ่มกลับมาเติบโตที่ 1.1% จากปี 2560 ติดลบ 3.3%  โดยเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ กรกฎาคม เป็นต้นมา

ชุมพล ศิวเวทกุล
ชุมพล ศิวเวทกุล

ชุมพล ศิวเวทกุล ผู้อำนวยการฝ่ายบริการห้างค้าปลีก บริษัท นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด  กล่าวว่าเมื่อวิเคราะห์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG)  มีสัญญาณบวกเช่นเดียวกัน  นับจากปี 2559  ด้าน “มูลค่า” การใช้จ่ายสินค้ากลุ่มนี้อยู่ในอัตราติดลบ โดยไตรมาส4 ปี 2559  ติดลบ 3.4%   ช่วงไตรมาส 2 ปี 2560 ติดลบ 5%

โดยปี 2561 เริ่มเห็นการฟื้นตัวต่อเนื่อง  ไตรมาสแรกด้าน “มูลค่า” ติดลบ  2.6%  ไตรมาส 2  ติดลบ 0.7%   ด้าน “ปริมาณ”  ไตรมาสแรกติดลบ 4.9%  ไตรมาส 2 ติดลบ 2.8%  แม้ด้านมูลค่าและปริมาณติดลบ แต่พบว่า “ราคา” ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง  มาจากปัจจัยสินค้าพรีเมียมที่ราคาต่อชิ้นสูง และการซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ขึ้น

พบว่าการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเริ่มมีสัญญาณฟื้นตั้งแต่เดือน พฤษภาคมปีนี้  ด้าน “มูลค่า” ติดลบ 0.1%  มิถุนายน ติดลบ 0.1%  กรกฎาคม เติบโต 3% 

ด้าน “ปริมาณ”  เดือนพฤษภาคม ติดลบ 2.3%  ,มิถุนายน ติดลบ 2.2% และกรกฎาคม กลับมาเติบโต  0.2%  ขณะที่ “ราคา” เดือนพฤษภาคม เติบโต 2.3%  มิถุนายน เติบโต  2.1%  และกรกฎาคม เติบโต 2.8%  

อย่างไรก็ตามหาก “ไม่นับรวม” สินค้ากลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูง พบว่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ด้าน “มูลค่า” เริ่มกลับมาเติบโตตั้งแต่เดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 2.2%  มิถุนายน เติบโต 2.2% และกรกฎาคม เติบโต 3.8%  ด้าน “ปริมาณ”  เดือนพฤษภาคม เติบโต 1.0%  มิถุนายน เติบโต 1.2%  และกรกฏาคม เติบโต 1.8%

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

4 เทรนด์ดันตลาด FMCG โต

แม้ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค อยู่ในภาวะเติบโตต่ำนับตั้งแต่ปี 2559 แต่พบว่ายังมีโอกาสเติบโตได้จาก 4 เทรนด์หลัก ประกอบด้วย

เทรนด์ที่ 1 พื้นที่เมืองขยายตัว (Urbanization) 

ในเอเชียแปซิฟิก ปี 2558 ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมีสัดส่วน 47%  คาดว่าปี 2568 จะเพิ่มเป็น 53%  หรือมีจำนวน 374  ล้านคน  ประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น  คือ ประเทศไทย  สัดส่วน 60%  ประเทศจีน 65%  อินโดนีเซีย  60%

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

ปี 2568  ประเทศไทยจะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของพื้นที่เมือง โดยกรุงเทพฯ จะมี ประชากรเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านคน  เติบโต 18%  ส่วนเมืองรอง  20 จังหวัด (1-5 ล้านคน)  ประชากรเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านคน  เติบโต 62%  เมืองขนาดเล็ก (5 แสน-1ล้านคน) 33 จังหวัด  ประชากรเพิ่มขึ้น 9 แสนคน เติบโต 91%

“จังหวัดเมืองรองในประเทศไทยหลายจังหวัดที่มีศักยภาพเติบโตสูง จากการขยายการลงทุนด้านต่างๆ ทั้งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว ส่งผลให้พื้นที่เมืองขยายตัว  ประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย”

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

เทรนด์ที่ 2 การเติบของนักท่องเที่ยวจีน

พบว่าปี 2559 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศกว่า 135 ล้านคน  และประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายท่องเที่ยวของชาวจีน  ในปี 2559 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 32 ล้านคน  มีนักท่องเที่ยวจีน 8.8 ล้านคน เติบโต 28% จากปีก่อนหน้า

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

พบว่านักท่องเที่ยวจีน สัดส่วน 55% เป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือมาก 1 ล้านบาทต่อปี   รูปแบบการท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ 39%  ใช้เวลาท่องเที่ยว 6.8 วันต่อทริป  ใช้จ่าย 7,023 บาทต่อวัน  และนักท่องเที่ยวอิสระ (FIT)  61% ใช้เวลาท่องเที่ยว 9.2 วันต่อทริป ใช้จ่าย 5,957 บาทต่อวัน

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน นิยมใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต/เดบิตของธนาคารต่างๆ 42%  โมบายเพย์เมนท์ 28%  และเงินสด 30% โดย 91% นิยมชำระเงินผ่านโมบายเพย์เมนท์แบรนด์ต่างๆ จากประเทศจีน  เช่น อาลีเพย์

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวจีน  นิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทย “ช้อปปิ้ง ลิสต์” 4 กลุ่ม คือ สแน็ค  ยา/สมุนไพร  ของใช้ส่วนบุคคล (personal care)  และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

“ผู้ประกอบการสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ต้องการเจาะตลาดจีน ต้องพัฒนาช่องทางการชำระเงินที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมใช้ อีกทั้งต้องวางกลยุทธ์สื่อสารผ่านสื่อออนไลน์ ที่ชาวจีนนิยมใช้งานเช่นกัน”

เทรนด์ที่ 3 กำลังซื้อตลาดสูงวัย

ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัยและจะเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบในปี 2568  ที่จะมีประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไป สัดส่วน 40% ขณะที่ประชากรสูงวัยในเอเชียแปซิฟิก ปี 2568  มีจำนวน 290 ล้านคน   ประชากรกลุ่มนี้ ถือเป็นอีกตลาดสำคัญที่มีกำลังซื้อสูง และเป็นโอกาสของสินค้าอุปโภคบริโภคในการพัฒนาสินค้าเพื่อเจาตลาดนี้

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

สินค้าสำหรับกลุ่มสูงวัย จะต้องเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เปิดได้ง่าย ตัวอักษรขนาดใหญ่ สีโดดเด่น  ปริมาณสินค้าไซส์เล็กลง เพราะกลุ่มสูงวัยรับประทานอาหารต่อมื้อลดลง  และต้องมีบริการจัดส่งถึงบ้าน

พบว่าห้างสรรพสินค้าที่ญี่ปุ่น ได้ติดตั้งแว่นตาขยายไว้ที่ชั้นวางสินค้าเพื่อให้กลุ่มสูงวัยใช้ดูฉลากผลิตภัณฑ์ได้ชัดเจน รวมทั้งบริการส่งสินค้า

นีลเส็น อุปโภคบริโภค

เทรนด์ที่ 4 มุ่งทำตลาดแบบเจาะลึกมากขึ้น

ปัจจุบันร้านค้าปลีกไทยแบ่งเป็น โมเดิร์นเทรด 50%  และร้านค้าปลีกดั้งเดิม 50%  จำนวนร้านค้าปลีกล่าสุดเดือย กรกฎาคม 2561 แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 340 สาขา, ซูเปอร์มาร์เก็ต 901 สาขา , ร้านสุขภาพและความงาม 936 สาขา, ร้านสะดวกซื้อ  14,842 สาขา  ร้านโชห่วย 4 แสนร้านค้า

นอกจากนี้ยังมีร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดต่างจังหวัด รูปแบบ SEMI-Retailer  ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกภูธร ที่พัฒนารูปแบยร้านค้าและนำเทคโนโลยีมาใช้งานเช่นเดียวกับโมเดิร์นเทรด และขยายเครือข่ายในต่างจังหวัด เช่น ตั้งงี่สุน อุดรธานี ,ซุปเปอร์ชีป ภูเก็ต

“ร้านค้าปลีกโมเดิร์นเทรดภูธร เป็นอีกช่องทางที่มีการเติบโตสูง จากการขยายตัวของพื้นที่เมือง รองรับกำลังซื้อในต่างจังหวัดและเป็นอีกช่องทางที่สินค้าอุปโภคบริโภคจะเข้าไปเจาะตลาดนี้”

 

Avatar photo