Digital Economy

ไขข้อสงสัย ‘ขุมทรัพย์บิ๊กดาต้า’ จีน-ไทย ทำไมได้ผลไม่เท่ากัน

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

“พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” เปิดภาพบิ๊กดาต้าดันเศรษฐกิจไทยสู่ดิจิทัล พร้อมฟอร์มทีม Data Scientist นับสิบทีมสร้างบิ๊กดาต้าให้หน่วยงานภาครัฐ ตั้งเป้าสู่ประเทศ “Cashless Society, Paperless และการเป็น One Stop Service” ด้านผู้เชี่ยวชาญจาก JD.com เตือนโลกอีคอมเมิร์ซจะเปลี่ยนแรง ต้องมองให้รอบด้าน

โดย ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวในการปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” ในงาน Digital Thailand Big Bang 2018 ว่า การกระจายตัวของดิจิทัลนั้นเข้าถึงหลาย ๆ ภาคส่วนแล้วจากการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญหลังจากนี้คือการใช้ดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ เช่น นำมาช่วยด้านการค้าขาย นำมาปรับใช้ในการบริหารจัดการเมืองให้มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

โดยในปีที่ผ่านมา เป้าหมายของการปรับใช้ดิจิทัลคือ ทำให้รัฐบาลลดความเทอะทะลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งเพื่อวัตถุประสงค์นี้ ได้มีการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลใน 5 ด้าน ได้แก่

  • – Digital Intrastructure ได้แก่ โครงการอินเทอร์เน็ตหมู่บ้านที่ภายในปีหน้า อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเข้าถึงหมู่บ้านทุกแห่งของประเทศไทย โดยในแต่ละหมู่บ้านจะมีหนึ่งจุดที่รัฐบาลลงทุนให้ใช้งานได้ฟรี เช่น บริเวณศาลาประชาคมของหมู่บ้าน เป็นต้น
  • – Digital Government ในจุดนี้ รัฐมนตรีดีอีเผยว่า อยู่ระหว่างการจัดทีม Data Scientist ที่ตอนนี้มี 10 ทีม และหวังว่าอนาคตอาจมีเป็นร้อยทีม ไว้คอยให้คำปรึกษาฟรีกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ รวมถึงช่วยในด้าน Architecture Design – bigdata, datacenter, cloud service สำหรับหน่วยงานที่ทำเองไม่ได้
  • – Digital Manpower หรือการสร้างบุคลากรดิจิทัลที่รัฐมนตรีดีอีเผยว่า เด็กไทยในอนาคตจำเป็นต้องมีทักษะดิจิทัลสูง ๆ ภาคการศึกษาไทยควรให้ความสำคัญกับบิ๊กดาต้าเทียบเท่าคณิตศาสตร์ เพื่อให้เด็กเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ได้จริง ๆ
  • – Cyber Security ได้แก่ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานเครือข่าย และกฏหมายไซเบอร์ที่กำลังจะนำเข้าพิจารณาในคณะรัฐมนตรี
  • – Digital Tech Development ตัวอย่างคือโครงการดิจิทัลปาร์คที่ศรีราชาในขนาด 800 ไร่ กับการดึงเทคโนโลยีไฮเทคทั้งในด้านเครือข่าย นักพัฒนา สตาร์ทอัพ ไปรวมตัวกันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์

“ดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ก็มีสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการควบคู่กันไปคือ กฎหมายที่จะเข้ามาคุ้มครอง ปกป้อง ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อมูลทางธุรกิจ การธุรกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจแบบไร้รอยต่อ และกำลังล้อมรั้วเพื่อปกป้องข้อมูลที่สำคัญ เราเร่งพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จนได้รับการจัดอันดับการใช้ดิจิทัลจากธนาคารโลกให้อยู่ที่ในอันดับ 26 จาก 46 เมื่อปีที่ผ่านมา” ดร.พิเชฐ กล่าว

รมว.ดิจิทัล กล่าวว่า เป้าหมายของการพัฒนาดิจิทัลแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้นทางคือเรามีธรรมาภิบาลข้อมูล คือผู้ใช้ข้อมูลรู้ว่าจะรักษาความเป็นส่วนตัว จัดระบบ รักษาความลับ หรือจะแชร์ข้มูลอะไรอย่างไร กลางทางคือ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้จัดทีมดาต้าไซแอนทิส และดาต้าเอนจิเนีย เพื่อให้บริการกับภาครัฐทั้งหลายในด้านข้อมูล โดยเดือนตุลาคม จะเปิดบริการให้คำปรึกษาฟรี ส่วนปลายทางคือ สังคมไร้เงินสด และไร้เอกสาร ต่อไป บัตรประชาชนใบเดียว ใช้ได้ทั้งหมดในรูปแบบ one stop service

บิ๊กดาต้าในการพัฒนาประเทศ

นายปฐม อินทรโรดม
นายปฐม อินทรโรดม

แต่การใช้บิ๊กดาต้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่หน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากในฟากเอกชน และผู้บริโภคเองก็มีการใช้บิ๊กดาต้าในหลาย ๆ รูปแบบ เช่น การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อคาดการณ์การซื้อของผู้บริโภค หรือใช้บิ๊กดาต้าเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อ ฯลฯ เกิดขึ้นมากมาย อย่างไรก็ดี นายปฐม อินทโรดม ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและคณะกรรมการ Creative Digital Economy สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยก็แสดงทัศนะว่า ก่อนจะอยากใช้บิ๊กดาต้า อยากให้ทุกฝ่ายที่จะใช้ทำความเข้าใจพื้นฐานของดาต้าก่อน

“เหมือนเราเห็นประเทศอื่น ๆ เขาจะไปดาวอังคารกัน เราก็บอกเราจะไปด้วย แล้วก็กระโดดขึ้นรถ แต่รถมันไปไม่ถึงนะ บิ๊กดาต้าก็เหมือนกัน ก่อนอื่นต้องกลับไปดูว่า โครงสร้างฐานข้อมูล เรามีพร้อมหรือยัง หรือหากเราทราบว่า IoT จะเป็นแหล่งที่มาของดาต้ามหาศาล ฐานข้อมูลเรารองรับหรือยัง เหล่านี้เราต้องกลับไปดูฐานข้อมูลองค์กรว่าเก็บข้อมูลอย่างไร ข้อมูลอัปเดตหรือไม่”

ในส่วนของการใช้งานนั้น นายปฐมยังชี้ด้วยว่า บิ๊กดาต้าคือการคาดการณ์ล่วงหน้าจากการเก็บข้อมูลจำนวนมาก การมีบิ๊กดาต้าทำให้ธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างเทนเซ็นต์สามารถใช้ประโยชน์ในการสร้างบริการใหม่ ๆ ขึ้นได้มากมาย รวมถึงการจับมือกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ การคมนาคมขนส่ง หรือแม้แต่ธุรกิจค้าปลีก เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ามีอีกหลายแง่มุมให้ธุรกิจไทยเอามาปรับใช้ และปรับตัว

“ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์”ชี้ เกือบ 80% ในไทยยังไม่มีแผนรองรับ

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์จุลภาคประยุกต์ และซีอีโอบริษัท Siametrics Consulting

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักเศรษฐศาสตร์จุลภาคประยุกต์ และซีอีโอบริษัท Siametrics Consulting กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องบิ๊กดาต้า เราจะเห็นภาพของคอนเซ็ปต์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่การนำไปใช้งานผ่านแอพลิเคชันและการบริการยังมีช่องว่างอยู่มาก จึงต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ ทั้งนี้ หากเราลองมาดูมูลค่าการซื้อขายของบริษัทชั้นนำของโลก 7 อันดับ มีมูลค่ามากกว่าจีดีพี ของประเทศไทยถึง 11 เท่า สาเหตุก็เพราะว่าบริษัทเหล่านั้นมีการใช้งานบิ๊กดาต้ามานานแล้ว และสร้างประโยชน์จากบิ๊กดาต้าได้อย่างมหาศาล

ดร.ณภัทร กล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคทองของปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ จากผลสำรวจพบว่า 72% เทคโนโลยีเอไอ และบิ๊กดาต้าจะมาใน 5 ปี แต่ 77% ยังไม่มีแผนรองรับ เนื่องจากบิ๊กตาต้ามีความสลับซับซ้อน ต้องรวบรวมข้อมูลทุกอย่างในยุค 4.0 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูงในการตรวจสอบความถูกต้อง อีกทั้งมีเรื่องกฏหมายและจริยธรรมมาเกี่ยวข้อง พร้อมแนะว่า การเริ่มต้นของประเทศไทยนั้น ต้องเริ่มจากข้อมูลที่เรียบง่ายและเกี่ยวข้องกัน อีกทั้งผู้บริหารต้องมีความเห็นตรงกัน ว่าทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญ การจัดการข้อมูลและเครื่องมือต่างๆ ช่วยให้การทำงานดีขึ้น อย่าให้นโยบาย และ กฎระเบียบต่าง ๆ มาเป็นอุปสรรค

อนาคตของอีคอมเมิร์ซบนโลกบิ๊กดาต้า

นาย Ling Chenkai จาก JD
นาย Ling Chenkai จาก JD

นอกจากมุมการใช้งานบิ๊กดาต้าของหน่วยงานภาครัฐแล้ว ภาคเอกชน โดยเฉพาะการขยับตัวของบิ๊กเนมจากประเทศจีนก็เป็นสิ่งที่ธุรกิจไทยต้องจับตา โดยนาย Ling Chenkai รองประธานฝ่ายกลยุทธ์องค์กร และการลงทุนของ JD.com ได้ขึ้นเวทีพร้อมเผยถึงการใช้งานบิ๊กดาต้าของ JD.com ว่า การมีดาต้าทำให้ JD เติบโตอย่างก้าวกระโดดก็จริง แต่สำหรับอนาคต บิ๊กดาต้ากำลังจะพาอีคอมเมิร์ซไปสู่สเตจที่ 2 ในอนาคตอันใกล้

โดยที่ผ่านมา JD ได้มีการลงทุนสร้างโกดัง 521 แห่งทั่วประเทศ ปัจจุบันครอบคลุมประชากร 99% ทำให้สามารถส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้ภายในวันเดียว และในจำนวนโกดังเหล่านี้ ยังมีส่วนหนึ่งที่เป็นโกดังอัจฉริยะที่ไม่มีคนทำงานอีกแล้วด้วย ซึ่งนั่นคือสเตจที่ 1

สำหรับสเตจที่ 2 ที่ JD มองนั้นพบว่าจะแตกต่างจากยุคที่ 1 นั่นคือ

การขายมีหลายช่องทางมากขึ้น จากโลกยุคเดิมที่มีแค่ออนไลน์ กับออฟไลน์ มาสู่การขายผ่าน IoT, AR/VR, AI, 3D ฯลฯ ส่วนความแตกต่างที่ 2 ก็คือ แทนที่ผู้ขายจะเน้นการสร้างทราฟฟิกให้มาก ๆ เช่น ถ้ามีร้าน ก็ขอให้ตั้งในที่ที่คนเดินผ่านเยอะ ๆ หรือถ้ามีร้านออนไลน์ก็ต้องหาทางให้คนเข้ามาดูเยอะ ๆ มาสู่การใช้ข้อมูลในมือทำความรู้จักลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และพวกเขาจะนำเสนอสินค้าได้โดนใจลูกค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ

ความแตกต่างประการที่สามคือ อีคอมเมิร์ซจะเปลี่ยนจากแพลตฟอร์มไปสู่การเป็นซัพพลายเชน และนั่นนำไปสู่ความแตกต่างข้อที่ 4 ที่ว่า จากการขายให้ผู้บริโภค (2C) ในอนาคต ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเหล่านี้จะเติบโตและกลายเป็น 2B แทน เพราะพวกเขามีพร้อมทั้งระบบโลจิสติกส์ ระบบชำระเงิน ระบบคลังสินค้า ถ้าพวกเขาแบ่งปันความสามารถนี้ให้กับพาร์ทเนอร์ ก็จะสามารถทำเงินได้มากไม่แพ้กัน และความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นกับอีคอมเมิร์ซก็คือ การที่ฝ่ายผู้ผลิตกับผู้บริโภคจะสามารถสื่อสารกันได้โดยตรง ว่าต้องการสินค้าและบริการแบบไหนนั่นเอง

จากภาพของการใช้บิ๊กดาต้าที่ปรากฏในจีนแผ่นดินใหญ่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าทำให้ดิจิทัลเข้าถึงคนไทยให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศ พอ ๆ กับการสร้างทักษะให้คนมีความรู้ความเข้าใจในดิจิทัลเลยทีเดียว

Avatar photo