World News

‘คุมระบาด-ความสามารถรัฐ’ กุญแจสำคัญ เศรษฐกิจ ‘เอเชียตะวันออก’ ฟื้นตัวยั่งยืน

ธนาคารโลกชี้ เศรษฐกิจ “เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก” กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของไวรัสโควิด-19  เตือน เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยั่งยืนได้ ขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการควบคุมโรค และความสามารถของรัฐบาล ในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน 

เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารโลก เปิดรายงาน “From Containment to Recovery” อัปเดตข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก (EAP) ประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางประเทศ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้นั้น กำลังฟื้นตัวขึ้นมา

cover

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ ยังคงต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ ในโลกนี้อย่างมาก และความต้องการของทั่วโลก ยังอยู่ระดับต่ำ ทำให้คาดการณ์ว่า การเติบโตของภูมิภาคนี้ จะอยู่แค่ระดับ 0.9% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุด นับแต่ปี แต่ปี 2510 หรือในรอบ 53 ปี

ธนาคารโลก ประเมินว่า จีนจะเติบโตขึ้น 2.0% อันเนื่องมาจากการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน จีนยังสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อใหม่ในระดับที่ต่ำได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจจะหดตัวรวมกัน 3.5% แต่โอกาสการฟื้นตัว ดูสดใสขึ้น ในปี 2564 โดยคาดการณ์การเติบโตในจีน 7.9% ในปีหน้า ขณะที่ประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคโตที่ 5.1%

กระนั้นก็ตาม ในอีก 2 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ผลผลิตไว้ว่าจะยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยแนวโน้มทางเศรษฐกิจจะแย่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลอดปี 2564 ผลผลิตจะยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดเหตุวิกฤติ 10% โดยประมาณ

รายงานยังระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกใน 3 ด้าน ต่อประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก คือ ตัวของโรคระบาดเอง ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด และการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จีนมีผลผลิตที่หดตัวลง 1.8% และประเทศอื่นๆของภูมิภาคนี้หดตัวลง 4% โดยเฉลี่ย

9OCT เศรษฐกิจปี 25631

แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน แม้ว่าเงินทุนระยะสั้น ได้ไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาค แต่ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ทั่วโลก กลายมาเป็นปัจจัยสกัดกั้นการลงทุน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่นเดียวกับความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น

ความยากจนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยคาดการณ์ว่า ประชากร 38 ล้านคน จะยังตกอยู่ในความยากจน หรือต้องกลับไปอยู่ในความยากจน ซึ่งเป็นผลมาจากโรคระบาด

นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า โควิด-19 ไม่เพียงแต่ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากจนอย่างหนักหน่วงที่สุด แต่ยังสร้างคนจนกลุ่มใหม่ขึ้นมาด้วย

รายงานเตือนว่า หากไม่มีการดำเนินการเพื่อรับมือในรูปแบบที่หลากหลาย โรคระบาดอาจทำให้การเติบโตของภูมิภาคน้อยลงในช่วงทศวรรษหน้า หรือช่วง 10 ปี คิดเป็น 1% ต่อปี ซึ่งกระทบต่อครัวเรือนยากจนมากที่สุด

สำหรับภาพรวมของจีดีพีในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ ธนาคารโลกประเมินว่าหากเป็นระดับพื้นฐาน น่าจะอยู่ที่ติดลบ 3.5% ถึงติดลบ 4.7%  โดยเวียดนาม ถือเป็นชาติที่สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดี ในอัตราการเติบโตเป็นบวกคือ ในระดับพื้นฐานอยู่ที่ 2.8% จากปีก่อน และในระดับต่ำสุดอยู่ที่ 1.5%

การฟื้นตัวจากวิกฤติปัจจุบัน ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทั้งใน และนอกประเทศ ซึ่งก้าวสำคัญ ที่จะมุ่งสู่การฟื้นตัว คือ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในช่วงวิกฤติ โดยการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในปรเทศ จะฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับความสำเร็จ ในการจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส หรืออย่างน้อยที่สุด จะต้องลดอัตราการติดเชื้อ ลงมาอยู่ในระดับที่จะเปิดทางให้เกิดการติดขัดได้น้อยลง

แต่สำหรับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ ยังต้องอาศัยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจทั่วโลกด้วย

นอกจากนี้ เรื่องความสามารถของรัฐบาล ในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยที่ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน ก็เป็นปัจจัยสำคัญ ในการสร้างความยั่งยืนให้กับการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจด้วย

9OCT โควิด กระทบการเติบโตระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo