Business

ไม่ต้องเดินทาง! ประกันสังคมเปิดจ่ายเงินสมทบผ่าน AirPay ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

ประกันสังคม เปิดจ่ายเงินสมทบผ่าน AirPay ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เพิ่มช่องทาง รับชำระเงินสมทบผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ผ่านบนมือถึอ ระบบ Application AirPay  ได้ตั้งแต่วันนี้!  
ประกันสังคม เปิดจ่ายเงินสมทบผ่าน AirPay นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคม ยังคงมุ่ง เพื่อพัฒนาทุกช่องทางการ ให้บริการรับชำระเงินสมทบผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาติดต่อขอรับบริการ ที่สำนักงานประกันสังคม ขณะนี้ได้ร่วมมือกับบริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการรับชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ผ่าน Mobile Application AirPay ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้ว
ผู้ประกันตนสามารถชำระเงินสมทบและเงินสมทบเพิ่มเติม (ถ้ามี) งวดเดือนปัจจุบัน และชำระเงินสมทบงวดเดือนล่วงหน้าไม่เกิน 12 งวดเดือน รวมชำระเงินสมทบได้ไม่เกิน 13 งวดเดือน กรณีเงินสมทบเพิ่มเติมชำระได้ไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท และไม่สามารถชำระเงินสมทบ และเงินสมทบเพิ่มเติมงวดเดือนย้อนหลังได้ เพียงผู้ประกันตน Download Application AirPay และลงทะเบียนใช้งานด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ก็สามารถชำระเงินสมทบได้ทันที
สปส.เปิดจ่ายเงินสมทบผ่าน AirPay

ประกันสังคม เปิดจ่ายเงินสมทบผ่าน AirPay

โดย Application AirPay นี้สามารถรองรับระบบปฏิบัติการทั้งระบบ Android และระบบ iOS สามารถชำระได้ทั้ง Wallet ของ AirPay และการผูกบัญชีเงินฝากธนาคารใน Application AirPay เพื่อหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งผู้ประกันตนสามารถผูกบัญชีเงินฝากธนาคารได้ถึง 9 แห่ง ได้แก่ ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กสิกรไทย ธ.ทหารไทย ธ.กรุงศรีอยุธยา ธ.ธนชาต ธ.ออมสิน และธ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ฟรีค่าธรรมเนียม และสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ได้ด้วยตนเองจากเว็ตไซต์ สำนักงานประกันสังคม https://www.sso.go.th/erc ในวันถัดจากวันที่ชำระเงิน ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เป็นไป ผู้ประกันตนสามารถติดต่อสอบถามการสมัครใช้บริการหรือแจ้งปัญหาได้ที่ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของบริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด Call Center เบอร์โทรศัพท์ 02-118-9170 e-mail:[email protected] และhttps://www.facebook.com/AirPayTH/

หากผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลสำนักงานประกันสังคมทางโทรศัพท์ 1506 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ

หลักเกณฑ์เงื่อนไขลดหย่อยเงินสมทบ

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และ ผู้ประกันตน กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มีเนื้อหาดังนี้

เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้าง และผู้ประกันตนซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติร้ายแรง กรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกอบกับมีการขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีกคราวหนึ่ง เพื่อควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) มิให้นำไปสู่การระบาดระลอกใหม่ อันส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในท้องที่ประเทศไทย จึงควรลดหย่อนการออกเงินสมทบนายจ้างและ ผู้ประกันตน ดังกล่าว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราฝ่ายละร้อยละ 2 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน

ข้อ 2 ให้ ผู้ประกันตน ตามมาตรา 39 ได้รับการลดหย่อนการออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ถึงงวดเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดยให้ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 96 บาท

ข้อ 3 ในกรณีที่มีการส่งเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่กำหนดไว้ตามประกาศนี้ ให้นายจ้าง หรือผู้ประกันตนตามข้อ 1 หรือข้อ 2 แล้วแต่กรณี ยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกินคืนได้ ณ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา

ประกาศ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

สุชาติ ชมกลิ่น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight