General

บอร์ดเด็กปฐมวัย เน้น ‘เท่าเทียม’ คัดกรองเด็กพิเศษ เด็กด้อยโอกาส

บอร์ดเด็กปฐมวัย รับทราบ ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ฉบับใหม่ เน้นดูแลพัฒนารอบด้าน เข้มคัดกรองเด็กพิเศษ เด็กด้อยโอกาส สร้างความเท่าเทียม

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (บอร์ดเด็กปฐมวัย) ครั้งที่ 3/2563 ที่ประชุมได้รับทราบ ร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563-2570 ซึ่งเป็นการปรับปรุงร่างฯ ฉบับเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับ ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12

บอร์ดเด็กปฐมวัย

สำหรับ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดและการให้บริการแก่เด็กปฐมวัย มีการปรับปรุง ให้มีการพัฒนาระบบการดูแล และให้ความรู้แก่ทั้งพ่อและแม่ ของทารกในครรภ์ อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

เด็กปฐมวัย ได้รับการสำรวจและคัดกรอง ค้นหาภาวะความต้องการพิเศษ ด้อยโอกาส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 99 หากพบเด็กกลุ่มนี้ จะต้องได้รับการส่งต่อ เพื่อวินิจฉัย ดูแล พัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และได้รับบริการด้านต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม มีคุณภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 85

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนา และสร้างความเข้มแข็ง ให้กับสถาบันครอบครัว ในการอบรมเลี้ยงดู เด็กปฐมวัย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เสนอเปลี่ยนคำว่า สถานบริการ เป็น หน่วยบริการ โดยให้หน่วยบริการ จัดโครงการ กิจกรรมให้ความรู้ และเตรียมความพร้อมในการดูแล พัฒนา และคุ้มครองสิทธิเด็กแก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครอบครัว

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการให้บริการ ที่พัฒนาเด็กปฐมวัย ได้ปรับปรุงให้บุคลากร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาศักยภาพ และสนับสนุนให้ดำเนินงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

สาธิต ปิตุเตชะ
สาธิต ปิตุเตชะ

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอ 5 ข้อ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี กรณีการจัดการศึกษาเด็กเล็ก โดยได้เสนอให้กำหนดแผนปฏิบัติการทำงานร่วมกัน ระหว่าง 4 กระทรวงหลัก ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

พร้อมกันนี้ เสนอให้มีการดำเนินการ แบบบูรณาการ ในหน่วยงานเดียวกัน (One Stop Service) ซึ่งจะสามารถทำได้ เมื่อร่างแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2563-2570 ผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีแล้ว เนื่องจากกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุข จะไปจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้อง และเป็นไปตามแผน โดยมี สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษาในฐานะ เลขานุการ เป็นหน่วยงานในการประสานงาน และติดตามการดำเนินงาน เป็นระยะ

ดร.สาธิต กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบ องค์ประกอบ ของคณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กพิเศษ และด้อยโอกาส โดยเพิ่มผู้แทน จากกรมสุขภาพจิต ชมรมกุมารแพทย์พัฒนาการ และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จากเดิมที่มีเพียง ผู้แทนกรมอนามัย เท่านั้น

ในปี 2563 กรมอนามัย ได้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาการเด็ก โดยใช้มาตรการสำคัญทั้งเชิงรับ และเชิงรุกเพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเห็นความสำคัญ ในการเฝ้าระวัง และส่งเสริมพัฒนาบุตรหลาน รวมถึงเร่งรัด ติดตามการดำเนินงาน ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่

สำหรับ แนวโน้มการดำเนินงานการคัดกรองพัฒนาการเด็ก ไตรมาส 1 มีผลการดำเนินงานสูงกว่าปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนไตรมาส 2 เข้าสู่ไตรมาส 3 พบว่า การคัดกรองพัฒนาการมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับ การติดตามเด็กสงสัยล่าช้า ปี 2563 มีผลการดำเนินงานได้น้อยกว่า ปี2562 ในช่วงเวลาเดียวกัน และในไตรมาส 3 ผลการดำเนินงานลดลงอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ Covid-19

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo