Business

กำไรสุทธิ ‘แบงก์ไทย’ ไตรมาส 4 ร่วงต่อ ตั้งรับลูกหนี้ หลังจบมาตรการเยียวยา

กำไรสุทธิแบงก์ไทย ไตรมาส 4 คาดร่วงต่อเนื่อง หลังไตรมาส 3 หดตัว 66.5% อยู่ที่ 3.08 หมื่นล้านบาท พร้อมดูแลลูกหนี้ต่อ หลังหมดมาตรการเยียวยา

รายงานข่าวจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า กำไรสุทธิแบงก์ไทย หรือระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.08 หมื่นล้านบาท โดยลดลง 66.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 9.16 หมื่นล้านบาท  ซึ่งเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีกำไรพิเศษจากการขายหุ้นในบริษัทประกัน ซึ่งธนาคารถือหุ้นอยู่

กำไรสุทธิแบงก์ไทย

อย่างไรก็ดี กำไรสุทธิที่ระดับดังกล่าว ขยับขึ้นเล็กน้อยประมาณ 3.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ ในไตรมาส 3/2563 ของธ.พ.หลายแห่งอาจชะลอลงบางส่วน หลังจากที่มีนโยบายการตั้งสำรองฯ เชิงรุกในระดับที่สูงมากในไตรมาส 2/2563 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กำไรสุทธิของแบงก์ไทย ที่ลดลงดังกล่าว เป็นผลมาจาก รายได้ธุรกิจหลักยังคงไม่ฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่โดนกระทบหนักจากวิกฤติ โควิด-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมยังคงหดตัว

นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจาก รายได้ดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มลดลง ตามการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ภาคส่วน อีกทั้งรายได้ดอกเบี้ยของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังได้รับผลกระทบมากขึ้น จากทิศทางขาลงของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562

ด้านภาพรวมสินเชื่อ และ ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ในไตรมาส 3/2563 ยังคงชะลอลง หรืออยู่ที่ 4.5-4.8% ในไตรมาส 3/2563 จาก 5.1% จากไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังต้องประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต ของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อใหม่ อย่างระมัดระวัง ประกอบกับมีการทยอยชำระคืนสินเชื่อ ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่บางราย

 

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สะท้อนว่า หลังจากมาตรการช่วยเหลือ ของสถาบันการเงิน ทยอยครบกำหนดลง จะมีลูกหนี้ธุรกิจและรายย่อยบางส่วนเริ่มกลับมาชำระคืนหนี้ในช่วงไตรมาส 3/2563 นี้ด้วยเช่นกัน

ในส่วนของ  NIM ไตรมาส 3/2563 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.65-2.70% จาก 2.73% ในไตรมาส 2/2563 โดยเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับสินเชื่อปล่อยใหม่ส่วนใหญ่ รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในระยะนี้ เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง

กำไรสุทธิแบงก์ไทย

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อในพอร์ต ก็พบว่า ถดถอยลง ตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจ โดยคาดว่า สัดส่วน NPLs ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ในไตรมาส 3/2563 จะขยับขึ้นไปที่กรอบประมาณ 3.25-3.35% จากระดับ 3.21% ในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากยังอยู่ในช่วงของมาตรการพักชำระหนี้ของภาคธุรกิจ

 

ประกอบกับคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง จะเร่งจัดการปัญหาหนี้เสีย ในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งด้วยวิธีการตัดขายหนี้ด้อยคุณภาพ และเร่งปรับโครงสร้างหนี้

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การตั้งสำรองฯ จะยังอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 3/2563 แม้จะมีการตั้งสำรองฯ ก้อนใหญ่ไปแล้วในไตรมาส 2/2563

สำหรับสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจชะลอลงเล็กน้อย มาอยู่ในกรอบประมาณ 1.80-1.95% ในไตรมาส 3/2563 เทียบกับ 2.15% ในไตรมาส 2/2563 โดยธนาคารพาณิชย์ คงเตรียมความพร้อมในส่วนนี้ไว้ เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพหนี้ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้น หลังมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดลง หลังเดือนตุลาคมนี้

ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 โจทย์สำคัญของธนาคารพาณิชย์ จะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อม ในการดูแลลูกหนี้ หลังจากที่มาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปสิ้นสุดลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เมื่อจบไตรมาส 3/2563 สินเชื่อที่ได้รับความช่วยเหลือ จากธนาคารพาณิชย์ จะมีสัดส่วนประมาณ 28.5% ต่อสินเชื่อรวม ลดลงเล็กน้อยจากสัดส่วนประมาณ 31.0% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/2563 เนื่องจากลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ หลังมาตรการช่วยเหลือรอบแรกทยอยสิ้นสุดลง

9OCT สัดส่วนสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ดี โจทย์ที่ยากและมีความท้าทายสำหรับธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่การประเมินความสามารถ ในการชำระหนี้ ของลูกหนี้บุคคลและลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี หลังจากมาตรการพักหนี้สิ้นสุดลง เนื่องจากลูกหนี้กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ยังมีสถานะทางการเงินที่เปราะบาง ขณะที่สัญญาณอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่ลากยาวต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ได้อีกในอนาคต

ดังนั้น แม้มาตรการพักชำระหนี้ธุรกิจเป็นการทั่วไปจะทยอยสิ้นสุดลง แต่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง จะยังคงให้ความช่วยเหลือกับลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ และลูกหนี้รายย่อย ในรูปแบบอื่นต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ ตามแนวทางของธนาคาร หรือผ่านโครงการ DR BIZ มาตรการรวมหนี้ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งยังสามารถเข้าโครงการได้จนถึงสิ้นปี 2563

ภาพรวมที่เกิดขึ้น สะท้อนว่า การประคองความสามารถ ในการทำกำไร ของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ยังคงมีความท้าทาย ไม่น้อยไปกว่าหลาย ๆ ไตรมาสที่ผ่านมา เพราะแม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะทยอยกลับมา หลังการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็เป็นการฟื้นตัวที่เปราะบางมาก เพราะแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการส่งออก และท่องเที่ยว ยังไม่สามารถฟื้นกลไกการทำงานกลับมาได้อย่างเต็มที่

อีกทั้งในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะยังเป็นช่วงที่ธนาคารมีค่าใช้จ่ายรวม สูงกว่าไตรมาสอื่น ๆ เพราะมีทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่น่าจะยังอยู่ในระดับสูง ค่าแคมเปญการตลาด ค่าอุปกรณ์และสถานที่ และรายจ่ายค่าธรรมเนียม จึงคาดว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย จะยังเติบโตติดลบต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo