Politics

‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมาก ฉบับที่ 13

กรมอุตุ นิยมวิทยา ประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมาก ฉบับที่ 13 ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร

ประกาศ กรมอุตุ นิยมวิทยา พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) บริเวณภาคใต้ตอนบน (มีผลกระทบถึงวันที่ 9 ตุลาคม 2563) ฉบับที่ 13 ลงวันที่ 09 ตุลาคม 2563

พายุระดับ 1 (หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง) ปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะเคลื่อนตัวผ่านภาคใต้ตอนบนเข้าสู่ทะเลอันดามันในวันนี้(วันที่ 9 ตุลาคม 2563) ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้

กรมอุตุ นิยมวิทยา

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 9-10 ต.ค. 63 ส่วนอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสงขลาลงไป คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง

พื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก มีดังนี้

วันที่ 9 ตุลาคม 2563

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ภาคกลาง : ทุกจังหวัด

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา กระบี่ สตูล และภูเก็ต

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ application Thai Weather

ด้านเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ รายงานว่า หน่วยงาน กทม. ขานรับนโยบาย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำชับทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝนตกหนัก สำรวจ หาสาเหตุและแก้ไข เพื่อให้น้ำสามารถระบายได้อย่างคล่องตัว อันจะเป็นการลดผลกระทบ ลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

สำนักการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามคลองต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำ ที่อยู่ไกลจากสถานีสูบน้ำ ให้ไปเข้าระบบสูบน้ำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เป็นการช่วยและลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้

  • คลองลาดพร้าว บริเวณประตูระบายน้ำลาดพร้าว 56 จำนวน 4 เครื่อง การผลักดันน้ำรวม 6.0 ลบ.ม./นาที
  • คลองเปรมประชากร บริเวณปากคลองบางตลาด บริเวณหน้าวัดเทวสุนทร บริเวณใต้สะพานถนนรัชดาภิเษก บริเวณจุดตัดทางรถไฟสายใต้
  • คลองบ้านใหม่ จำนวน 15 เครื่อง การผลักดันน้ำรวม 22.5 ลบ.ม./นาที
  • คลองบางนา บริเวณใต้สะพานซอยร่มโพธิ์ ถนนสรรพาวุธ จำนวน 4 เครื่อง การผลักดันน้ำรวม 6.0 ลบ.ม./นาที
  • คลองทวีวัฒนา บริเวณจุดตัดถนนเพชรเกษม 69 บริเวณจุดตัดถนนอักษะ บริเวณหน้า สน.ศาลาแดง จำนวน 9 เครื่อง การผลักดันน้ำรวม 13.5 ลบ.ม./นาที

ติดตั้งเพิ่มเติมที่คลองลาดพร้าว บริเวณถนนประดิษฐ์มนูธรรม ใกล้ปากอุโมงค์แสนแสบคือการดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 4 เครื่อง ทั้งนี้ช่วยเร่งลดระดับน้ำให้อยู่ในระดับต่ำ เป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือน

  • เขตจตุจักร เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ จัดเก็บขยะมูลฝอย ฝาท่อระบายน้ำขอบทางถนน ช่องหน้าตะแกรงระบายน้ำ คอกต้นไม้ ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และป้องกันการกีดขวางทางน้ำในพื้นที่

เจ้าหน้าที่กลุ่มงานระบายน้ำ ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน บริเวณซอยลาดปลาเค้า 76 เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังบนผิวจราจร

  • เขตบางเขน เจ้าหน้าที่กลุ่มงานระบายน้ำ ดำเนินการเก็บผักตบชวาและวัชพืชและเก็บขยะในคูคลอง บริเวณคลองจระเข้ เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำของคลองมากยิ่งขึ้น และป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่
  • เขตบางซื่อ ตรวจสอบเช็คสภาพเครื่องสูบน้ำประจำจุด เพื่อเตรียมความพร้อม ในพื้นที่จุดเฝ้าระวังในพื้นที่เขตบางซื่อ บริเวณสามแยกเตาปูนใต้รถไฟ ซอยกรุงเทพ-นนทบุรี 31, 37 และซอยประชา ชื่น 37 พร้อมใช้งาน

ลอกท่อระบายน้ำอุดตัน บริเวณชุมชนซอยปานทิพย์ ซอยวงศ์สว่าง 10 ถนนวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

  • เขตบางนา ผู้บริหารเขตตรวจเยี่ยมสถานีสูบน้ำคลองบางนา และสถานีสูบน้ำสุขุมวิท 66/1 พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ประจำสถานีสูบน้ำจากสำนักการระบายน้ำ

เจ้าหน้าที่หน่วย BEST เขตลาดกระบัง ตรวจสภาพเครื่องสูบน้ำ/เติมน้ำมัน เดินเครื่องเร่งพร่องน้ำ บริเวณจุดวิกฤต จุดเฝ้าระวังน้ำท่วม และจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง

  • เขตห้วยขวาง ให้เจ้าหน้าที่หน่วย BEST เดินเครื่องสูบน้ำ พร้อมเก็บขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำคลองชวดตาเชียง เพื่อเปิดทางน้ำไหล และลดระดับน้ำในคลอง พร้อมรับสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่เขต

เจ้าหน้าที่หน่วย BEST ตรวจสอบการระบายน้ำ พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำ บริเวณ หมู่บ้านรัชดานิเวศน์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK