Economics

‘สมคิด’มาด้วยความรัก!! สั่ง’บินไทย’ส่งการบ้านภายใน 3 เดือน

S 29540363

“เอกนิติ” จับมือ “สุเมธ” รื้อแผนจัดหาเครื่องบินแสนล้านบาท ก่อนส่งการบ้านรัฐบาลภายใน 3 เดือน พร้อมประกาศยุทธศาสตร์องค์กร ตั้งเป้าหยุดขาดทุนปี 63 และหยุดขาดทุนสะสมปี 65

วันนี้ (20 ก.ย.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดงานเสวนา “สานพลังพันธมิตร เพื่อไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน” โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมเชิญพันธมิตรจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง เข้าร่วมงานเสวนาเพื่อแสดงความร่วมมือกับการบินไทย ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ได้พานายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมมาด้วยความรัก พร้อมจะให้พลังกับการบินไทย แม้การบินไทยจะประสบปัญหาขาดทุน

ผมมีความหวังตลอดเวลาว่า การบินไทยจะเป็นสายการบินชั้นนำได้ หวังอย่างนั้นจริงๆ และไม่เคยหมดกำลังใจ หรือท้อถอยต่อการบินไทย

การจัดงานวันนี้เกิดขึ้นเพราะเจตนาประการเดียว คือต้องการบอกเล่ายุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารงานของการบินไทยให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ผู้บริหาร และพนักงานการบินไทยทุกคนได้รับฟัง เพราะการบินไทยไม่ว่าจะดีหรือแย่ ทุกคนก็มีส่วนร่วมหมด

“เราไม่มีการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่นอน แต่ก่อนอื่นท่านต้องช่วยตัวเองด้วย อย่าคิดว่าการบินไทยเป็นของรัฐบาลแล้วจะเจ๊งไม่ได้ เพราะมีตัวอย่างจากสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ที่ล้มละลายให้เห็นแล้ว  การบินไทยตอนนี้ยังไปได้ แต่ต้องมีแผนการจัดหาเครื่องบินและเส้นทางที่ชัดเจน รวมถึงต้องปรับกระบวนการบริหารจัดการใหม่ภายใน 3 เดือน”

ภาพประกอบข่าว TG182 1
การทำงานต้องมีประสิทธิภาพและมีบริการที่ได้มาตรฐาน อาหารจะมีไฝหรือไม่มีไฝ ก็ขอให้อร่อย ถ้าจะเสิร์ฟซุป ซุปก็ต้องร้อน โดยขอให้จัดการเรื่องที่สั่งไว้อย่างรวดเร็ว เพราะตอนนี้ยังเหลือเวลาก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งเพียงพอต่อการโยกย้าย อย่างเช่น นโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองซึ่งทำมา 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่เป็นผลรูปธรรม จึงต้องรอประเมินผลงานนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และผู้เกี่ยวข้องปีนี้ ถ้าดีก็ไปต่อ ถ้าไม่ดีก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“เรื่องขาดทุนแค่นี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสายการบินเป็นธุรกิจระยะยาว ต้องสู้ด้วยยุทธศาสตร์ ความสามารถในการแข่งขัน ผมไม่พอใจกับรายได้ที่มีอยู่ เราต้องดูว่าจะเพิ่มรายได้อย่างไร จะเพิ่มรายได้ เครื่องบินคุณต้องดี ต้องวางเส้นทางโดยรวดเร็ว ดูว่าซื้อเครื่องแบบไหน อะไรที่มันดีที่สุด อย่างสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ที่ล้มละลาย เพราะมีเครื่องบินเยอะ แต่ผิดสเปค การบินไทยจึงต้องพิจารณาว่าจะซื้อเครื่องบินอะไร อย่างไร เมื่อไหร่ ผมต้องการคำตอบที่ชัดเจน ก่อนสิ้นปีนี้ ไปทำการบ้านมา” นายสมคิด กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มรายได้เพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เพราะธุรกิจการบินตอนนี้เป็นสงครามที่โหดร้าย โดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพราะฉะนั้นสายการบินไหนต้นทุนสูง ก็มีแนวโน้มจะไปก่อน  ดังนั้น การบินไทยจำเป็นต้องพัฒนาประสิทธิภาพและประสิทธิพล

“การบินไทยต้องดูแลพนักงานทุกคน แต่ต้องดูกระบวนการให้ละเอียด คราวนี้เอาจริง ไม่มีการรังแกใคร แต่คราวนี้ต้องอยู่ให้ได้ เพราะมาร์จิ้นมันบางมากๆ”

นอกจากนี้ การบินไทยต้องหาพันธมิตรเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เช่น ททท. ทอท. กับธนาคารกรุงไทย เพราะถ้าลงทุนคนเดียว การบินไทยก็จะตัวเล็กลง แต่หลังจากนี้การบินไทยก็ต้องหาพันธมิตรเพิ่มขึ้นทั้งสายการบินในและนอกประเทศ

ภาพประกอบข่าว TG182 2

จุดแข็งที่การบินไทยมี แต่สายการบินสิงคโปร์ และมาเลเซียไม่มี คือ เมืองการบิน และศูนย์กลางการบิน เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) แม้ตอนนี้ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่การบินไทยก็สามารถใช้เรื่องนี้เป็นอาวุธสร้างการเติบโตได้ และปีหน้าจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ในประเทศไทย ก็ขอให้การบินไทยจัดกิจกรรมเพื่อสะท้อนว่าการบินไทยเป็นศูนย์กลางการบินอาเซียนด้วย

“วันนี้มีแค่กำลังใจมาให้ พร้อมกระเป๋าเงินของกระทรวงการการคลัง และนโยบายคมนาคม แต่มีข้อแม้ท่านต้องช่วยตัวเองก่อน เราจะไม่ปล่อยมือท่าน ผู้บริหารร่วมมือกับฝ่ายจัดการทำให้ดี แล้วพวกเขาจะดูแลพนักงานการบินไทยทุกคน ถ้าวันหนึ่งการบินไทยบอกเราว่าพร้อมแล้ว ต้องการจะเปลี่ยนลุคการบินไทย ก็เปลี่ยนเลยเท่าที่เห็นสมควร เราก็พร้อมให้การสนับสนุน บางทีก็เปลี่ยนลุกก็สร้างพลัง ความกระชุมกระช่วย แต่ขอให้ทำจริง” นายสมคิด กล่าว

S 67674131

ทางด้าน นายเอกนิติ นิตทัณฑ์ประภาศ ประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนการจัดซื้อเครื่องบินของการบินไทยว่า ตนเพิ่งทำงานในฐานะประธานบอร์ดการบินไทย และนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม ก็เพิ่งรับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) การบินไทย จึงไม่ได้ร่วมจัดทำแผนจัดซื้อเครื่องบิน เพราะตอนที่รับตำแหน่ง แผนก็อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว จึงไม่ทราบรายละเอียด

เมื่อสภาพัฒน์สั่งให้การบินไทยทบทวนแผนจัดหาเครื่องบิน ซึ่งสอดคล้องกับการบ้านของนายสมคิด ทางบอร์ดและฝ่ายบริหารจึงต้องหารือกันอีกครั้ง โดยยืนยันว่าการทำงานของการบินไทยจะยึดหลักความโปร่งใสและหลักธรรมาภิบาล

“ผมต้องไปคุยกับดีดีและบอร์ด สุดท้ายแผนการจัดหาเครื่องบินอาจจะไม่ใช่ 23 ลำ หรือ 1 แสนล้านบาทตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ เราต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ เราต้องลดประเภทเครื่องบินให้สอดคล้องกับเส้นทางและเครือข่าย โดยรองนายกรัฐมนตรีสมคิดให้เวลา 3 เดือน เรายังมีเวลาทำยุทธศาสตร์ใหม่ ผม ดีดี และบอร์ดต้องทบทวนใหม่ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้พูดถึงแหล่งเงินทุนจัดหาเครื่องบิน เพราะไม่รู้ว่าจะเอากี่ลำ”

นายเอกนิติ กล่าวถึงการจัดงานเสวนาครั้งนี้ว่า เกิดจากแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การบินไทยนำแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มาชี้แจง และสร้างความร่วมมือกับพันมิตรของการบินไทย ทั้งพันธมิตรภายในองค์กร ได้แก่ พนักงาน และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม

ความร่วมมือ 3 ด้าน

  • ด้านธุรกิจการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง จะมีส่วนสนับสนุนธุรกิจการบิน รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับทุกภาคส่วนในประเทศ ซึ่งการบินไทยสามารถนำนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเข้าสู่เมืองรอง โดย ททท. สามารถสนับสนุนทางด้านโฆษณาและประชาสัมพันธ์
  • ด้านอุตสาหกรรมการบิน ในส่วนของการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติ ที่มีเที่ยวบินเข้า-ออก ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมากที่สุด ดังนั้น หากได้ผนึกกำลังร่วมกับ ทอท. จะเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับในการขนส่งทางอากาศที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้
  • ด้านข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัล เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 รัฐวิสาหกิจชั้นนำต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน ในเรื่อง Big Data โดยการบินไทย ททท. ทอท. และ ธ.กรุงไทย ร่วมพัฒนาข้อมูลใน Segment ของนักท่องเที่ยว และพัฒนาด้าน Payment Gateway ในโครงการ “เป๋าตุง” ขายคล่องรับเงินสะดวกทุกธนาคาร แจ้งเตือนเมื่อเงินเข้า ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขายให้การบินไทยได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
2 3 Copy
สุเมธ ดำรงชัยธรรม

ขณะที่ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีสมคิดมอบหมายให้การบินไทยปรับปรุงแผนจัดหาเครื่องบินทั้งหมด เช่น การบูรณาการ การกำหนดเส้นทาง และประเภทเครื่องบิน ในเวลา 3 เดือน

แต่ส่วนตัวมองว่าต้องเร่งจัดทำแผน และอาจใช้เวลาไม่ถึง 3 เดือน เพราะศัตรูสำคัญคือเวลา ถ้าสั่งซื้อเครื่องบินวันนี้ กว่าจะได้รับมอบเครื่องบินลำแรกก็ต้องรอถึง 24 เดือน โดยเมื่อทบทวนแล้วการจัดหาเครื่องบินอาจจะไม่ได้มีมูลค่าแค่ 1 แสนล้านบาทก็ได้

แผนยุทธศาสตร์ของการบินไทยได้ตั้งวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน จะผลักดันให้การบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและมีกำไรอย่างยั่งยืน ให้บริการดีเลิศด้วยเสน่ห์ความเป็นไทย

เป้าหมายหลัก 2 ข้อ

  1. ป็นสายการบินชั้นนำใน 5 อันดับแรกของโลก ที่ลูกค้าพึงพอใจและสามารถแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสมได้ในปี 2565
  2. มีกำไรอย่างยั่งยืน และขยายธุรกิจเป็นกลุ่มธุรกิจการบินของเอเชีย ที่เป็นผู้นำเรื่องการขนส่งผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมบำรุง และศูนย์ขนส่งสินค้าภายในปี 2570 โดยรักษามาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากลได้อย่างต่อเนื่อง

การบินไทย

การบินไทยจะขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วยแนวทาง 5 ด้าน เรียกง่ายๆ ว่า A-B-C-D-E

1.Aggressive Profit การเพิ่มรายได้ โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มอัตราการบรรทุกผู้โดยสารจาก 79% เป็นมากกว่า 80%, ปรับปรุงรายได้เฉลี่ยต่อหน่วย (Yield), เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด, เพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักจาก 10% เป็น 5-20% ของรายได้รวม และเพิ่มรายได้อื่นๆ จาก 2.2% เป็น 5-20% ของรายได้รวม

ปัจจุบันการบินไทยมีเครื่องบิน 103 ลำ และแบ่งการตลาด 27.3% ซึ่งลดลงจากปี 2556 ที่มีเครื่องบิน 100 ลำ และส่วนแบ่งการตลาดถึง 37% ถ้าปล่อยสถานการณ์ให้เป็นแบบนี้ต่อไป ก็อาจทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของการบินไทยลดลงเหลือ 10% ก็ได้ การบินไทยจึงต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพราะในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา การบินไทยยังมีกำไรจากการดำเนินงาน แต่กำไรบางลงเรื่อยๆ จากความสามารถในการแข่งขันลดลงและต้นทุนสูงที่ขึ้น

“เรื่องรายได้การบินไทยไม่น้อยหน้าใคร เห็นตัวเลขเคบินแฟคเตอร์ 80% แปลว่าการตลาดของเรายังแข่งขันได้ แต่คุณขายผิดราคาอยู่หรือเปล่า ดังนั้นเราจะต้องบริหารราคาเพื่อรักษาระดับยีลด์ที่เกิดขึ้น รวมถึงทำการตลาดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคดิจิทัล” นายสุเมธกล่าว

2.Business portfolio การเพิ่มรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจบริการอาหารและเอ็มอาร์โอ โดยการบินไทยมีแผนพัฒนาเอ็มอาร์โอสำหรับเครื่องยนต์ Trent 700 ในสนามบินดอนเมือง โดยเอ็มอาร์โอของ Trent 700 มีไม่เกิน 5 แห่งในโลก

3. Customer Experience สร้างมาตรฐาน เพราะเป็นหัวใจของธุรกิจบริการ

4. Digital Technology พัฒนาองค์กรให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก เช่น Blockchain หรือ Big Data

5. Effective Human capital management ความขับเคลื่อนองค์กรจากความรักของพนักงาน โดยสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติที่เคยล้มละลาย แต่ก็ฟื้นตัวกลับมาได้ด้วยความรักของพนักงาน จึงต้องการสร้างบรรยากาศแบบนี้ในการบินไทยด้วย

thai 1
ภาพจาก Thai Airways

“ปีหน้าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ผมมีแผน ผมไม่ได้มาที่นี่แบบว่างเปล่า ปี 2563 เราน่าจะหลุดพ้น ถ้าเราได้รับการสนับสนุน ถ้าเรายึดมั่นในสิ่งที่เรากำลังทำ ถ้าทุกคนรักองค์กร” 

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยได้เห็นชอบผลการศึกษา MRO ที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พิจารณาในเดือนตุลาคมและคาดว่าจะเปิดเผยร่างเงื่อนไขการคัดเลือกผู้ร่วมทุนในช่วงปลายปีนี้ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกผู้ร่วมทุนต่อไป

Avatar photo