Business

กรมอนามัย ตั้งเป้า ยกระดับมาตรฐาน ‘สตรีทฟู้ด’ ครบทุกจังหวัดปี 64

ยกระดับมาตรฐาน สตรีทฟู้ด ครบทุกจังหวัดปี 64 กรมอนามัย ชูป้ายสัญลักษณ์ “อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ”พร้อมย้ำท่องเที่ยว แบบวิถีใหม่

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รักษาราชการแทนอธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย มีนโยบาย ยกระดับมาตรฐาน สตรีทฟู้ด หรือ อาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน ครบทุกจังหวัด ภายในปี 2564

ยกระดับมาตรฐาน สตรีทฟู้ด

ทั้งนี้ ได้กำหนดให้รักษามาตรฐาน ต้นแบบอาหารริมบาทวิถี โดยใช้ป้ายสัญลักษณ์ “อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ” (Street Food Thailand) ทั้งในด้านสุขอนามัย ด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะร้านค้า แผงลอย

การวางเป้าหมาย ยกระดับมาตรฐานอาหารสตรีทฟู้ด ครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน พบว่า ประชาชนนิยมบริโภคอาหารริมบาทวิถีมากขึ้น เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย และมีราคาประหยัด

นอกจากนี้ อาหารริมบาทวิถี ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในการเดินทางมาบริโภค ซึ่งแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรม จุดเด่น และรสชาติของอาหาร ที่แตกต่างกัน

พร้อมกันนี้ ได้มอบนโยบาย ให้มีการพัฒนานวัตกรรม ด้านสุขาภิบาลอาหาร เช่น การปกปิดอาหาร การสร้างต้นแบบ ของพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐาน โดยอาศัยระบบ และกลไก ในการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ในการจัดการดำเนินงาน อาหารริมบาทวิถี เพื่อยกระดับมาตรฐาน อาหารริมบาทวิถี และส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย

นอกจากการพัฒนาระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถี ร้านค้า แผงลอยแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การรณรงค์ให้พ่อค้า แม่ค้า และนักท่องเที่ยว ช่วยกันกำจัดขยะให้ถูกวิธี เพราะสถานที่จำหน่ายอาหารดังกล่าว เป็นสถานที่ ที่มีคนมาจากหลากหลายพื้นที่ และมีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อโรค ส่งผลให้เกิดปริมาณขยะเพิ่มขึ้น

นพ.สุวรรณชัย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

โดยเฉพาะ ขยะพลาสติก เช่น กล่องพลาสติกใส่อาหาร ช้อน ส้อม แก้ว หลอดดูด มีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 6,300 ตันต่อวัน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ประมาณ 1,500 ตันต่อวัน

ดังนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ร้านอาหารและแผงลอย ปรับเปลี่ยนภาชนะใส่อาหาร ประเภทพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ให้เป็นผลิตภัณฑ์ ที่ทำจากธรรมชาติ เช่น ชานอ้อย มันสำปะหลัง และ พลาสติกชีวภาพย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมทั้งผ่านการรับรองมาตรฐาน จากในประเทศ หรือต่างประเทศ สำหรับใช้กับอาหาร

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชน ท่องเที่ยว แบบวิถีใหม่ (New Normal) ปฏิบัติตามคำแนะนำของ กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัย ทุกครั้งที่ออกจากบ้าน หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และรักษาระยะห่างอยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงโรคโควิด 19 ด้วย

ข้อมูลการวิจัยพบว่า ผู้บริโภคอาหารริมบาทวิถี ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา และพนักงานเอกชน สถานภาพโสด รายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท โดยมีการใช้จ่ายเป็นค่าอาหารริมทางวันละไม่เกิน 100 บาท มีความถี่ในการบริโภค 7 ครั้งต่อสัปดาห์ นิยมซื้อบริโภคเป็นอาหารมื้อเย็น

ขณะที่อาหารริมบาทวิถีที่ผู้บริโภครับประทานบ่อยที่สุด ได้แก่ อาหารปิ้ง-ย่าง-เผา และอาหารตามสั่ง เหตุผลหลักในการเลือกซื้ออาหาร คือ สะดวก เข้าถึงง่าย และราคาถูก

ที่สำคัญคือ สตรีทฟู้ดไทยไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และพนักงานเอกชนเท่านั้น อาหารบาทวิถีเหล่านี้ ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยากลิ้มลองอีกด้วย จึงยิ่งทำให้มีร้านอาหารริมทาง เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลจากการขยายตัว ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายด้าน ทั้งด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย ของบ้านเมือง การสัญจรของประชาชน รวมทั้งความปลอดภัยของอาหาร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo